สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ส.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 95.08 หดตัว 1.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 8 เดือนหดตัวเฉลี่ย 1.55% หลังรับแรงกดดันจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน สินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ต้นทุนภาคการผลิตปรับตัวขึ้น และราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง
พร้อมปรับประมาณการ ปี 67 คาดดัชนี MPI -1.0 ถึง 0.0% และการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม -0.5% ถึงขยายตัว 0.5% จับตาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ค่าเงินบาท สถานการณ์น้ำท่วม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการเลือกตั้งของสหรัฐ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ MPI หดตัว มาจากการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง รวมถึงสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทย
ขณะเดียวกัน ต้นทุนภาคการผลิตปรับตัวขึ้นตามราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาวะดอกเบี้ยที่ทรงตัว และต้นทุนพลังงานจากราคาน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ทำให้การเดินทาง การจัดส่งสินค้า การค้าชายแดน และการผลิตชะงักลง โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งจำเป็นต้องหยุดดำเนินการ และสถานประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงต้องปิดตัวชั่วคราว
นางวรวรรณ กล่าวว่า จากตัวเลขดัชนี MPI ช่วง 8 เดือนแรกของปี 67 ที่หดตัว ส่งผลให้ สศอ. พิจารณาปรับประมาณการ ปี 67 โดยดัชนี MPI -1.0 ถึง 0.0% (จากประมาณการเดิมที่ 0-1%) และการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม -0.5 ถึงขยายตัว 0.5% (จากประมาณการเดิมที่ 0.5-1.5%)
“ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา MPI บวกแค่ 2 เดือน คือ เม.ย. และก.ค. ดังนั้น ภาพรวมอยู่ในแดนลบ และปัจจัยส่วนใหญ่ของ MPI ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ แม้จะบวกได้บ้าง แต่ก็น่าจะเป็นแรงส่งได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากปัจจัยสำคัญมาจากหนี้ครัวเรือนเป็นหลัก ทั้งนี้ ถ้าเทียบ MPI กับช่วงโควิด-19 หรือในปี 64 ที่ติดลบหนักมาก ก็ถือว่ายังไม่ต่ำกว่าตอนนั้น” นางวรวรรณ กล่าว
สำหรับมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังหลังจากนี้ คือ
- อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากสถานการณ์เงินเฟ้อของเศรษฐกิจโลกที่ลดลง ส่งผลนโยบายการเงินในหลาย ๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลาย
- อัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐปรับตัวลดลง ส่งผลให้เงินทุนไหลออกมายังประเทศในแถบอาเซียนรวมถึงประเทศไทย โดยคาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวในช่วงนี้ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และส่งผลมายังภาคการผลิต โดยเฉพาะด้านอุปโภคและบริโภค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้า เป็นต้น
- สถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในพื้นที่ และหากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมเกิดขึ้นอย่างล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการผลิตในภูมิภาค
“ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนว่า น้ำท่วมกระทบอุตสาหกรรม โรงงานอะไรบ้าง โดยข้อมูลที่มีตอนนี้มีบางส่วน เช่น จังหวัดเชียงราย อุตฯ ที่ได้รับผลกระทบ คือถังรถยนต์ รถพ่วง หรือจังหวัดพะเยา อุตฯ ที่ได้รับผลกระทบ คือโรงเฟอร์นิเจอร์ไม้ โกดังสินค้าเกษตร อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังประเมินได้ไม่ 100% ต้องดูว่าน้ำท่วมขัง หรือน้ำไหลผ่าน ซึ่งผลกระทบไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกอุตฯ จะได้ผลกระทบทางลบ แต่บางอุตฯ อาจได้อานิสงส์ เช่น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น” นางวรวรรณ กล่าว
4. นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 400 บาท จะกระทบต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี ล่าสุดคาดว่าจะยังไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงได้ในวันที่ 1 ต.ค. นี้
5. การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา อาจจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องหาแนวทางการรับมือกับนโยบายทางการค้าที่อาจเปลี่ยนแปลง
สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาท เฟสแรกแจกกลุ่มเปราะบางทั้งหมด 1.45 แสนล้านบาท คาดกระตุ้น GDP ได้ 0.3% ในส่วนของ GDP ภาคอุตฯ คาดโต 0.1% จากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับว่าเงินจะหมุนในระบบได้ทั้งหมดกี่รอบ ถ้าหมุนน้อยรอบ อัตราที่มีผลต่อภาวะทางเศรษฐกิจก็จะน้อยตาม
“จากปัจจัยน้ำท่วม และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ประเมิน MPI เดือนก.ย. เป็นลบต่อ เนื่องจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท คาดว่าจะมีผลในเดือนต.ค. นอกเหนือจากนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณบวก ทั้งดอกเบี้ย และราคาพลังงานที่ยังสูง อย่างไรก็ดี ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. จะเป็นไฮซีซันของการท่องเที่ยว อาจเห็น MPI เพิ่มขึ้นบ้างในเดือนพ.ย. ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของรัฐบาล นโยบายต่าง ๆ ก็มีผลต่อการเร่งการลงทุนของอุตฯ ใหม่ๆ ได้มากขึ้นด้วย ส่วนปี 68-69 ถ้ายังเป็นโครงสร้างอุตฯ เดิม ๆ ก็ยังเจอปัญหาเดิมคือเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ มองว่าหลังจากนี้น่าจะมีการปรับโครงสร้างอุตฯ ใหม่ ๆ เข้ามา ดังนั้น MPI ก็น่าจะเปลี่ยนไปด้วย” นางวรวรรณ กล่าว
- ยานยนต์ หดตัวลดลง 18.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะรถบรรทุกปิกอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลง 11.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามทิศทางความต้องการสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ในกลุ่มอื่น ๆ
- คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลง 13.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตและพื้นสำเร็จรูปคอนกรีตเป็นหลัก ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ และความล่าช้าในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วมบางพื้นที่
- สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัว 41.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจาก ปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก หลังราคาวัตถุดิบทูน่าปรับตัวลดลง โดยตลาดส่งออกขยายตัว ตามคำสั่งซื้อจากอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อเก็บเป็นสต๊อกสินค้าหลังปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่ง
- อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัว 9.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปเป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เช่น อเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และแคนาดา ขณะที่อาหารปศุสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากแนวโน้มราคาจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้น
- คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัว 18.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตาม Hard Disk Drive เป็นหลัก ตามความต้องการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า รวมถึงความต้องการสินค้าทดแทนสินค้าที่หมดประกันและครบอายุการใช้งาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ย. 67)
Tags: MPI, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, สศอ., สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม