MTC ไหลลงต่อ กังวลต้นทุนพุ่งจากออกหุ้นกู้สกุล USD ให้ดอกเบี้ยกว่า 6.87% สูงเกินคาด

หุ้น MTC ปรับตัวลงต่อจากวานนี้อีก 2.48% มาอยู่ที่ 49.25 บาท ลดลง 1.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 383.55 ล้านบาท เมื่อเวลา 11.22 น. โดยเปิดตลาดที่ 49.75 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 50.25 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 49.00 บาท

บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ในระยะสั้นนี้มีประเด็นกดดันราคาหุ้น จากกรณีที่ MTC จะออก Social Bond สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่า 335 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.1 หมื่นล้านบาท อายุ 4 ปี ให้อัตราดอกเบี้ย 6.875% โดยมีการป้องกันความเสี่ยง และ Swap ทั้งอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินทั้งหมด

เรามองว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสูงกว่าการออกหุ้นกู้ของ MTC ในไทยราว 1.9% (ปกติออกราวเกือบ 5%) หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น 210 ล้านบาท (3% ของประมาณการกำไรปี 68) ซึ่งจากการคำนวณของเรา เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 5.55% (อิงจากส่วนลดการ swap อัตราดอกเบี้ย 1.32% ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตร 4 ปีระหว่างสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท) สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ MTC จะต้องเสนอหากออกพันธบัตรสกุลเงินบาทเพียงประมาณ 0.6% ดังนั้นจะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพียง 66 ล้านบาทในปี 68 (คิดเป็น 1% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 68)

เรามองว่านี่เป็นทางเลือกสำหรับ MTC ในการจัดหาทุนเพื่อชำระคืนพันธบัตรมูลค่า 6.4 พันล้านบาทที่กำลังจะครบกำหนด และออกเงินกู้ใหม่เพื่อขยายธุรกิจใน 4Q67

ดังนั้น เราจึงปรับเป้าหมายการลงทุนไปเป็นสิ้นปี 68 และยังคงชอบ MTC มากที่สุดในกลุ่ม

ด้าน บล.เอเซียพลัส ระบุว่า วานนี้ราคาหุ้น MTC ปรับลง 2.4% DoD (Low สุดของวันลบ 5.8% DoD) มากกว่ากลุ่ม Non-Bank และ SET Index บวก 0.98% DoD

ฝ่ายวิจัยมองว่ามาจากการออกหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศราว 335 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ครบกำหนด 30 ก.ย.71 (มีกำหนดทยอยชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 2) อัตราดอกเบี้ย 6.875% ต่อปี สูงกว่าดอกเบี้ยหุ้นกู้สกุลเงินบาท ประกอบกับราคาหุ้นปรับตัวขึ้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จึงมีโอกาสเห็นการขายทำกำไรได้

การออกหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศของ MTC เป็นไปตาม Long-Term Issuer Default Rating (IDR) โดย Fitch Ratings และ S&P Global Ratings ที่ BB และ BB- ตามลำดับ ซึ่งฝ่ายวิจัยคงมุมมองการเสนอขายหุ้นกู้ในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มความหลากหลายของช่องทางdรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในต่างประเทศจากปัจจุบันที่มีเพียงการใช้สินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตด้านสินเชื่อในอนาคต ยามตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงมีความผันผวน อีกทั้งความต้องการระดมทุนของภาครัฐในการลงทุนต่างๆ ในอนาคตอาจดึงดูดเม็ดเงินบางส่วนไปยังพันธบัตรรัฐบาล

ณ สิ้นงวดไตรมาส 2/67 โครงสร้างหนี้ที่มีดอกเบี้ยราว 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ตราสารหนี้ : สินเชื่อธนาคาร ที่ราว 67% : 33% มีภาระหนี้สกุลเงินต่างประเทศระยะยาวจากสถาบันการเงินราว 1.1 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 10% ของภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ย โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศ ทาง MTC มีการทำสัญญา SWAP กับสถาบันการเงินในประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านค่าเงินไว้อยู่แล้ว ซึ่งตราสารหนี้ออกใหม่ตามข้างต้น มองว่าจะมีการทำสัญญา Swap ด้วยเช่นกัน

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ข้างต้นที่ 6.875% ต่อปี เทียบกับตราสารหนี้สกุลเงินบาทอายุใกล้เคียงกันที่ออกล่าสุดเมื่อ ส.ค.67 มีอัตราดอกเบี้ย 4.95% ต่อปี หากนำอัตราดอกเบี้ยทั้งคู่มาคำนวณบนเงินต้น 1.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นดอกเบี้ยที่ MTC จ่ายเพิ่มขึ้นจากการออกหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศเทียบกับสกุลเงินบาทราว 210 ล้านบาท หลังหักภาษีจ่ายจะอยู่ที่ 170 ล้านบาท หรือสัดส่วนราว 2.4% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 68 จึงประเมินการปรับตัวลงของราคาหุ้นวานนี้ได้สะท้อนปัจจัยดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาด Cost of fund ปี 68 ลดลง ทั้งจากวัฎจักรดอกเบี้ยขาลงในไทยและต่างประเทศ รวมทั้ง National Long-Term Rating จาก Fitch Ratings ที่ A- (tha) ดีขึ้นจาก Credit ratings ปัจจุบัน โดย Tris Ratings ที่ BBB+ ช่วยให้การออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทต่อจากนี้มีอัตราดอกเบี้ยจ่ายต่ำลง

คงประมาณการเดิม มองว่าคาดการณ์กำไรสุทธิปี 67-68 อยู่บนสมมติฐาน Credit cost ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมที่ 3.7% (1H67 ที่ 3.1%) ภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หนุนทิศทางคุณภาพสินทรัพย์มีพัฒนาการขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงต่อประมาณการหาก Loan spread น้อยกว่าสมมติฐาน ซึ่ง Sensitivity analysis ของฝ่ายวิจัยพบว่าทุก 1% ของ Loan spread ที่เปลี่ยนแปลงจากสมมติฐาน จะส่งผลให้กำไรเปลี่ยนแปลงประมาณ 12% ขณะที่ทุก 0.5% ของ Credit cost ที่เปลี่ยนแปลงจากสมมติฐาน จะส่งผลให้กำไรเปลี่ยนแปลงราว 11%

อิง PBV ที่ 2.9 เท่า ให้ FV ปี 68 ที่ 59 บาท (คิดเป็น PER ราว 18 เท่า VS ค่าเฉลี่ย PER ย้อนหลังตั้งแต่ปี 61 ที่ 23 เท่า) คงแนะนำ Outperform และเป็น Top pick กลุ่มฯ ตามเดิม เพราะแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ทำได้ดีกว่ากลุ่มฯ ประกอบกับคาดอัตราการขยายตัวเฉลี่ย (CAGR) ของ EPS ปี 67-69 ราว 19% ต่อปีน่าสนใจเมื่อเทียบกับ PER ซื้อขายปี 68 ที่ 15 เท่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 67)

Tags: , , ,