ระบบพร้อม! ปภ.-กสทช. ยัน SMS แจ้งเตือนภัยประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเชื่อถือได้

ปภ. ร่วมกับ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนภัยเข้ามือถือประชาชน แบบเจาะจงพื้นที่เสี่ยงภัยระดับตำบล/ หมู่บ้าน แจ้งเตือนครบทุกมิติ ทั้งวัน เวลา สถานที่ ระดับความรุนแรง และการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยได้ทันท่วงที

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแจ้งเตือนภัยทางมือถือแบบ SMS (ข้อความสั้น) ว่า ปภ. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม, กรมอุตุนิยมวิทยา, สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้ง AIS, TRUE และ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) วางแนวทางการส่งข้อความการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนภัย และสามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างทันท่วงที และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

โดย ปภ. จะเป็นหน่วยงานหลักในการออกข้อความแจ้งเตือนไปยังประชาชน ซึ่งขณะนี้พร้อมดำเนินการแล้ว ในทางปฏิบัติ เมื่อศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการพยากรณ์ จะทำการวิเคราะห์ข้อมูล และส่งข้อความแจ้งเตือนภัยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทำการส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยมีการแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS ใน 2 รูปแบบ ทั้งการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 12-24 ชั่วโมง และการแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉิน 6-12 ชั่วโมง

พร้อมย้ำว่า ได้กำหนดรูปแบบของข้อความการแจ้งเตือนครบทุกมิติ ทั้งวัน เวลา สถานที่ ระดับความรุนแรง และการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัย ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวลใจว่าจะเป็นข้อความจากมิจฉาชีพ

“การแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความ SMS ขณะนี้พร้อมดำเนินการได้ทันที หากมีสถานการณ์ภัยที่เป็นไปตามเกณฑ์การแจ้งเตือนที่กำหนด ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าข้อความแจ้งเตือนภัยจาก ปภ. ที่จะได้รับทางโทรศัพท์มือถือนั้น เป็นข้อความจากทางราชการ มีความปลอดภัย และเชื่อถือได้อย่างแน่นอน…เมื่อท่านได้รับข้อความแจ้งเตือนสถานการณ์ และคำแนะนำแล้ว ขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตัวท่าน และช่วยลดความเสี่ยงที่จะได้อันตรายจากสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น” นายไชยวัฒน์ กล่าว

สำหรับเกณฑ์การส่งข้อความแจ้งเตือนภัยแบบ SMS นี้ ปภ. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS ซึ่งช่วงเวลาในการส่งข้อความ SMS จะเป็นไปตามประกาศแจ้งเตือนของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง และห้วงเวลาการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า (12-24 ชั่วโมง) และการแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉิน (6-12 ชั่วโมง)

โดยเจ้าหน้าที่จะใช้ระดับการแจ้งเตือนภัย ตามที่แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติกำหนด (5 ระดับ) ภายหลังการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ และสถานการณ์ความเสี่ยงภัยแล้ว จะทำการส่งข้อความตามเกณฑ์ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ดังนี้

1. ระดับ 3 (สีเหลือง) ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และเตรียมพร้อมอพยพกลุ่มเปราะบาง

2. ระดับ 4 (สีส้ม) ให้อพยพ และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยให้อพยพกลุ่มเปราะบางออกจากพื้นที่น้ำท่วม และขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

3. ระดับ 5 (สีแดง) ต้องอพยพ และปฏิบัติตามข้อสั่งการทันที

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 67)

Tags: , , , , ,