Media Talk: มองอนาคต E-Commerce ไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า กับ “ป้อม ภาวุธ”

ธุรกิจ E-commerce ปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ทั้งสภาพการแข่งขันในระดับสูงจากคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ ความจำเป็นในการสร้างความแตกต่างให้สินค้า การปรับตัวตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการตอบสนองความคาดหวังสูงของลูกค้ายุคดิจิทัล ผู้ประกอบการจึงต้องเข้าใจแนวโน้ม เพื่อวางกลยุทธ์ให้อยู่รอดและเติบโตได้ โดยคุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO จาก PaySolutions, Creden.co และ Gash.ai ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์และข้อมูลในงาน Marketing Insights & Technology Conference 2024 ภายใต้หัวข้อ ” Future of E-Commerce โลกอนาคตของการทำ E-Commerce”

“ป้อม” ภาวุธ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ E-Commerce เริ่มบุกตลาดประเทศไทยในปี 2011 ธุรกิจนี้ได้เติบโตอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการพัฒนาของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งในช่วงวิกฤต COVID-19 E-Commerce ในไทยก็ยังสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้อย่างราบรื่น โดยยังคงได้รับความนิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและศักยภาพของธุรกิจ E-Commerce ในประเทศไทย

ส่องแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า

• E-Commerce ในไทยเติบโตต่อเนื่อง

คุณภาวุธแสดงความเชื่อมั่นว่า E-Commerce ในไทยยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เห็นปัจจัยใดที่จะทำให้การเติบโตชะลอตัวลง แม้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ก็เป็นเพียงการชะลอตัวชั่วคราว โดยเฉพาะในส่วนของ E-Commerce ด้านการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมและสายการบิน อย่างไรก็ตาม ในปี 2024 การเติบโตยังคงดำเนินต่อไป ทั้งนี้เป็นผลมาจากความหลากหลายของ Marketplace ที่มีให้เลือกสรร

สำหรับมูลค่าตลาด E-Commerce ในไทยปีนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ประมาณการณ์ไว้ที่ 6.94 แสนล้านบาท แต่จากการคำนวณของคุณภาวุธ โดยรวบรวมข้อมูลยอดขายจาก Lazada, Shopee และ TikTok Shop ณ ปัจจุบัน พบว่าอาจสูงถึง 8.35 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าตลาดค้าปลีกเจ้าใหญ่ในประเทศไทย ด้วยอัตราการเติบโตนี้ คุณภาวุธคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาด E-Commerce ในไทยปี 2024 อาจพุ่งสูงถึง 3 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นถึงศักยภาพมหาศาลของตลาด E-Commerce ในประเทศ

• ระบบขนส่งพัฒนาแบบก้าวกระโดด

ระบบขนส่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างรวดเร็วของ E-Commerce ในไทย อนาคตของการขนส่งกำลังก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด โดยมีแนวโน้มสำคัญหลายประการ:

1. การใช้โดรนในการส่งสินค้า ซึ่งได้เริ่มใช้งานจริงแล้วในหลายประเทศ และคาดว่าจะเข้ามามีบทบาทในไทยเช่นกัน

2. การพัฒนา Micro-Fulfillment Center หรือคลังสินค้าขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ช่วยให้การจัดส่งสินค้าทำได้รวดเร็วขึ้น โดยลูกค้าอาจได้รับสินค้าภายในวันเดียวกับที่สั่งซื้อ

3. การขยายตัวของ Crowdsourcing Logistics หรือระบบขนส่งที่ใช้เอาท์ซอร์ส เช่น บริการขนส่งจาก Grab หรือ Lalamove ที่ผู้ส่งใช้รถยนต์ส่วนตัวในการจัดส่งสินค้า

ระบบขนส่งเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดส่งสินค้ามีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุค E-Commerce ได้ดียิ่งขึ้น

• ต่างจังหวัดจะกลายเป็นตลาดใหญ่ของ E-Commerce

เมื่อการพัฒนาระบบขนส่งมีประสิทธิภาพ จะช่วยขยายขอบเขตการเข้าถึง E-Commerce สู่พื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น โดยมีแนวโน้มการเติบโตของตลาดสินค้าเฉพาะทางที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ ตัวอย่างเช่น Temu จากประเทศจีน ที่นำเสนอสินค้าราคาประหยัด สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์สำคัญในการเจาะตลาดต่างจังหวัด ผู้ประกอบการ E-Commerce จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ทั้งในแง่ของประเภทสินค้า ราคา และวิธีการนำเสนอ

• E-Commerce ไทยถูกผูกขาดจากต่างชาติอย่างสมบูรณ์

ปัจจุบัน E-Commerce ในไทยถูกผูกขาดโดยแพลตฟอร์มต่างชาติอย่างสมบูรณ์ โดยข้อมูลยอดขาย Gross Merchant Value (GMV) จาก Efrastructure ที่คุณภาวุธนำเสนอ ชี้ให้เห็นว่ ตลาด E-Commerce ไทยถูกครอบครองโดย Shopee, Lazada และ TikTok ตามลำดับ การที่เราไม่มีแพลตฟอร์มของตนเองส่งผลให้เมื่อใดที่เกิดปัญหา การเข้าถึงข้อมูลหรือขอความช่วยเหลือจึงกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ การขึ้นค่าบริการอย่างต่อเนื่องของแพลตฟอร์มต่างชาติ จากที่เคยไม่มีการเก็บค่าบริการในช่วงเริ่มต้น ปัจจุบันอัตราค่าบริการได้พุ่งสูงถึงกว่า 10% และยังไม่มีแนวโน้มที่จะหยุด ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการควบคุมและกำกับดูแล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยและป้องกันการผูกขาดที่อาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

• ช่องทางการขายหลากหลายมากยิ่งขึ้น

คุณภาวุธคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีใหม่ จะเปิดโอกาสให้เกิดช่องทางการขายที่หลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น TikTok ที่เริ่มต้นเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่ได้พัฒนาฟีเจอร์ TikTok Shop เพื่อรองรับการซื้อขายสินค้า นอกจากนี้ ในอนาคตระบบร้านค้าออนไลน์จะเชื่อมต่อกันอย่างอัตโนมัติทั้งหมด และข้อมูลลูกค้าจากหลากหลายช่องทางจะถูกรวบรวมเข้าด้วยกันผ่าน Customer Data Platform (CDP) ส่งผลให้การสื่อสารกับลูกค้าทำได้ง่ายขึ้น ช่วยให้การทำ Segmentation มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การทำแคมเปญและการยิงโฆษณาไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีความแม่นยำสูงขึ้น

• AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการค้า

AI จะมีบทบาทสำคัญในวงการค้าและการทำงาน โดยจะถูกผสานเข้ากับบริการต่างๆ อย่างกว้างขวาง คุณภาวุธคาดการณ์ว่า AI จะช่วยเพิ่มผลิตภาพได้มากถึง 10 เท่า จากประสบการณ์ในประเทศจีน เขาได้เห็นการใช้ AI Avatar ในการไลฟ์ขายสินค้าแบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ การนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างลึกซึ้งในทุกแผนกขององค์กร เช่น การตลาด บริการลูกค้า โลจิสติกส์ การเงิน และทรัพยากรบุคคล จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจอย่างมาก

• จากโรงงานสู่ผู้บริโภค

Temu เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของโมเดลธุรกิจแบบ Manufacturer to Consumer (M2C) ที่เกิดขึ้นแล้วในไทย โดยสินค้าจะถูกส่งตรงจากโรงงานผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง กลยุทธ์สำคัญของ Temu คือการใช้ข้อมูลเชิงลึก (Insights) จากพฤติกรรมลูกค้ามาวางแผนการผลิตร่วมกับโรงงาน ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ส่งผลให้สินค้ามีราคาที่ดึงดูดใจ สร้างความพึงพอใจและการซื้อซ้ำของลูกค้า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของ Data Driven Business ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

• การค้าออนไลน์ข้ามประเทศ

โปรเจ็คนำร่อง Shopee International Platform (SIP) ของ Shopee เปิดโอกาสใหม่ให้ผู้ค้าชาวไทยสามารถขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศได้ โดยคุณภาวุธมองว่า โครงการนี้ควรได้รับการสนับสนุนและผลักดันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีศักยภาพสูงในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยจำนวนหลายแสนราย ที่ควรได้รับโอกาสในการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากจะเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจแล้ว ยังเป็นการนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว

• ลูกค้าจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของระบบ E-Commerce ความคาดหวังของลูกค้าก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยมีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นในหลายด้าน ทั้งคุณภาพสินค้า การบริการ และความรวดเร็วในการจัดส่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทบทวนและประเมินธุรกิจของตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยตั้งคำถามที่มีความสำคัญที่ว่า ธุรกิจของตนมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือเปล่า การตอบสนองต่อความท้าทายอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพจะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของธุรกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 67)

Tags: , , , , ,