ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์เดอะ แลนเซต (The Lancet) ระบุว่า ประชากรมากกว่า 39 ล้านคนทั่วโลกอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในช่วง 25 ปีข้างหน้า
สถานการณ์การดื้อยาของเชื้อโรค (Antimicrobial Resistance – AMR) หรือซูเปอร์บั๊ก (Superbug) ซึ่งหมายถึงภาวะที่เชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) นั้น คาดว่าจะเลวร้ายลงในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า ขณะที่ผลการศึกษาซึ่งวิเคราะห์แนวโน้มทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 1 ล้านคนต่อปีระหว่างปี 2533-2564 ซึ่งเป็นผลโดยตรงจาก AMR
“ภัยคุกคามนี้กำลังเพิ่มขึ้น” โมห์เซน นากาวี ผู้ร่วมในการศึกษานี้และหัวหน้าทีมวิจัย AMR จากสถาบันเมตริกและการประเมินผลสุขภาพ (Institute of Health Metrics and Evaluation – IHME) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าว พร้อมกับเสริมว่า “ยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Medicines) เป็นส่วนสำคัญของการดูแลสุขภาพสมัยใหม่ ดังนั้นการดื้อยาต้านจุลชีพที่เพิ่มมากขึ้นจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง”
การที่แบคทีเรียมีภูมิคุ้มกันต่อยาทั่วไปมากขึ้นนั้นเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปในมนุษย์และสัตว์ ทำให้การติดเชื้อรักษาได้ยากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัด การผ่าคลอด และการรักษาโรคมะเร็ง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สหประชาชาติ (UN) ได้ให้ความสนใจกับประเด็นนี้ในที่ประชุมระดับสูงเมื่อปี 2559 แต่แรงผลักดันในเรื่องดังกล่าวได้ชะลอตัวลงนับตั้งแต่นั้นมา ขณะที่กลุ่มนักลงทุนกลุ่มหนึ่งระบุเมื่อต้นเดือนนี้ว่า AMR เป็น “ความเสี่ยงเชิงระบบที่คล้ายกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียทางธรรมชาติ”
หากไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหา AMR อาจนำไปสู่การเสียค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2593 และจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกลดลง 3.8%
“เราจำเป็นต้องใช้วิธีการใหม่ ๆ อย่างเร่งด่วนเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงการใช้วัคซีน ยาตัวใหม่ การดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น การเข้าถึงยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ได้มากขึ้น และคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีใช้ยาเหล่านี้ให้ได้ผลดีที่สุด” สไตน์ เอมิล โวลล์เซต ผู้เขียนร่วมของการศึกษาดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในวารสารเดอะ แลนเซต และศาสตราจารย์ของสถาบัน IHME กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 67)
Tags: Superbug, ซูเปอร์บั๊ก, ดื้อยา, ยาปฏิชีวนะ