นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการแบ่งงานให้รัฐมนตรีช่วยฯ 2 คนใหม่เพื่อให้กำกับดูแลหน่วยงานที่เชื่อมโยงกัน นางมนพร เจริญศรี ให้ดูแลหน่วยงานทางน้ำ คือ กรมเจ้าท่า การท่าเรือฯ และทางอากาศ กรมท่าอากาศยานและวิทยุการบินฯ เพื่อให้เชื่อมโยงทางน้ำและทางอากาศ ส่วนนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ มอบหมายให้ดูแลงานทางบก ทั้งกรมขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในกลุ่มเดียวกัน
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เดิมมอบหมายให้นายสุรพงษ์กำกับดูแล ได้ขอนำกลับมากำกับดูแลเอง เพราะ ขณะนี้ประเทศไทยเน้นระบบราง ซึ่ง รฟท.มีแผนลงทุนจำนวนมาก และยังมีเรื่องเร่งด่วนคือ ต้องเร่งรัดติดตามงานก่อสร้างโครงการที่มีอยู่ให้เป็นไปตามกำหนดเวลา
อีกทั้งจะมีโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ที่จะมีการผลักดันเร่งรัดเสนอคณะรัฐนตรี (ครม.) ซึ่งในปี 68 จะครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนด้วย โดยทางจีนให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์เส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ดังนั้นต้องมีความมั่นใจในการขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าไปตามนโยบาย
หน่วยงานที่นายสุริยะ กำกับดูแลโดยตรง 9 แห่ง ประกอบด้วย 1.สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 2. กรมทางหลวง (ทล.) 3. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 4. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 5. รฟท. 6. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือกพท. 7. บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) 8. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ 9.บจ.ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเชีย
นางมนพร 6 หน่วยงาน 1.กรมเจ้าท่า (จท.) 2. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 3. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 4. สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) 5. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และ 6. บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.)
และนายสุรพงษ์ 7 หน่วยงาน ดังนี้ 1. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 2.กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 3. บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 5.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 6.บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. (รฟฟท.) 7. บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ย. 67)
Tags: รถไฟความเร็วสูง, รฟท., สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ