บัวหลวง หั่นเป้า SET ปี 67 ไม่ถึง 1,400-EPS โตแค่ 7.6% มอง “วายุภักษ์” อิทธิฤทธิ์น้อยลง-แนะจัดพอร์ตตั้งรับ

บล.บัวหลวง ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 67 ลงมาที่ 1,396 จุด จากเดิมคาดไว้ที่ 1,466 จุด เนื่องจากปรับลดคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) ปีนี้ลงเหลือโตแค่ 7.6% มาอยู่ที่ 89 บาท หลังประเมินกำไรครึ่งปีแรกออกมาโตแค่ 3% ต่ำกว่าคาด จากเป้าหมายเดิมคาดว่าทั้งปีจะโตได้ถึง 14% รับผลกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐล่าช้า อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนกำไรของธุรกิจต่างๆ ในครึ่งปีแรกกับค่าเฉลี่ยก่อนโควิดตั้งแต่ปี 58-62 พบว่าธุรกิจมีเดีย, ก่อสร้าง, อุตสาหกรรมหนัก และ ITC หดตัวลงค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงทั้งด้านการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ และจีน ที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามมีหลายเรื่อง เช่น เรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่อาจเข้มข้นขึ้นหากพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง และจะส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบด้านลบตามไปด้วย, แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลายประเทศเติบโตชะลอลง, ความมั่นคงทางการเมืองและการดำเนินนโยบายต่อเนื่องของรัฐบาลไทย, สงครามในหลายภูมิภาคทั่วโลก และ ความท้าทายของการเปลี่ยนแพลตฟอร์มการค้าสู่ระบบ AI

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทย ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อต่ำและการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยงในด้านต่ำ แต่เราคาดว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยตามหลังสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 4/67 โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวม 3 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยลดลงราว 0.75% เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตชะลอลง และในปี 68 มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลงต่อขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐค่อยๆ สูงขึ้น

นายชัยพร กล่าวว่า เป้าหมายดัชนี SET ที่ 1,466 จุดยังไม่ได้นับรวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะยังต้องติดตามข่าวการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโครงการที่ล่าสุดจะมีการแจกเป็นเงินสดส่วนหนึ่ง เบื้องต้นมีมุมมองว่าการแจกเงินสดเป็นการเติมเงินเข้าระบบที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.3% จากที่คาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ระดับ 2.6%

นอกจากนี้ยังไม่รวมกองทุนรวมวายุภักษ์ ซึ่งบล.บัวหลวง คาดหวังกองทุนดังกล่าวจะเข้ามาหนุนตลาดหุ้นไทยได้ในช่วง 4 เดือนจากนี้ และคาดจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามามากกว่า 1 แสนล้านบาท จากการันตีผลตอบแทนที่ 3-7%

มองกองทุนวายุภักษ์หนุนตลาดหุ้นไทยไม่มากเท่าในอดีต

นายชัยพร กล่าวว่า ในสมัยที่จัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 1 ในอดีต มีเม็ดเงินไหลเข้าถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการระดมทุนจากภาคประชาชนและนักลงทุนสถาบัน จากจุดตั้งต้นที่ 7 หมื่นล้านบาท รวมถึงจากกระทรวงการคลังเติมเงินเข้ามาอีก 3 หมื่นล้านบาท และ ณ วันนั้นมาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ไม่เกิน 4 ล้านล้านบาท ถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างมากพอสมควร คิดเป็น 2.6% ที่เพิ่ม Liquidity เข้าสู่ตลาด รวมกับรัฐบาลในยุคนั้นปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียนไทย ทำให้เป็นอีกแรงที่ทำให้กำไร บจ.เติบโตขึ้น

แต่รอบนี้มีความแตกต่างกัน เนื่องจากไม่มีการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลเหมือนในอดีต และมีข้อจำกัดในเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจ ในเรื่องของสังคมสูงวัย และหนี้ภาคครัวเรือนสูง บวกกับกองทุนวายุภักษ์ ณ วันนี้ ถ้าตั้งเป้าจะมีเม็ดเงินในระดับ 1-1.5 แสนล้านบาท แต่มาร์เก็ตแคปวันนี้โตกว่าในอดีต 4 เท่าตัว หากเทียบเม็ดเงินใหม่ของกองทุนวายุภักษ์กับมาร์เก็ตแคป จะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนต่ำกว่าในอดีตค่อนข้างมาก หรือประมาณ 0.6-1% เท่านั้น

ดังนั้น มองว่ากองทุนวายุภักษ์น่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น แต่คงไม่มากเมื่อเทียบกับในอดีต

หุ้นไทยยังมีอัพไซด์ ไปต่อถึง 1,400 จุด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 67 มองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีอัพไซด์อยู่บ้าง จากทั้งเม็ดเงินกองทุนวายุภักษ์ที่คาดว่าจะช่วยหนุน SET ไปต่อถึง 1,400 จุดได้ แต่ก็ยังมีมาตรการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เข้ามาเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลการซื้อขายหุ้น โดยเฉพาะจำกัดการทำ Short sell ซึ่งทำให้สภาพคล่องบางส่วนหายไป

“มองตลาดหุ้นไทยยังมีอัพไซด์ แม้ในเดือนก.ย.-ต.ค. จะเป็นรอบที่ตลาดถูกเทขายทำกำไร แต่ก็เป็นการ Rebalance พอร์ตการลงทุนรอบใหญ่ แต่ให้รอเม็ดเงินกองทุนวายุภักษ์ เข้ามาหนุน รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆ โดยเรายังมองเศรษฐกิจไทยโตในระดับ 3%” นายชัยพร กล่าว

แนะจัดพอร์ตแบบตั้งรับลดเสี่ยง เน้นเข้า “ตราสารหนี้” ทั้งสั้น-ยาวมากกว่าสินทรัพย์เสี่ยง

นายชัยพร กล่าวต่อว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ แนะนำจัดพอร์ตลงทุนแบบตั้งรับอย่างเต็มตัว เพื่อตั้งการ์ดรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และหลายประเทศคู่ค้าของไทยที่เติบโตชะลอลง รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งอาจทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและสินทรัพย์ต่าง ๆ เกิดความผันผวนได้

ล่าสุดทีมวิจัยหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลงมาอยู่สัดส่วน 20% จากต้นปี 67 ที่อยู่ราว 60-80% และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวในสัดส่วน 80% ส่วนตลาดหุ้นเวียดนาม แนะให้ลดน้ำหนักการลงทุนจาก 13% เป็น 9%, ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จาก 12% เป็น 6% ส่วนตลาดหุ้นจีนและญี่ปุ่นแนะขายไปก่อนหน้ายังไม่ให้น้ำหนักลงทุน ขณะที่หุ้นไทยให้น้ำหนักการลงทุนสัดส่วนต่ำ 2% ของพอร์ตรวม

สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามการลงทุน แนะนำบริการจัดพอร์ตกองทุนรวมแบบอัตโนมัติ (BLS Top Funds Portfolio) เครื่องมือช่วยสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน โดยไม่ได้ผูกติดกับ บลจ.ค่ายใดค่ายหนึ่ง แต่จะเฟ้นหากองทุนที่ดีที่สุดของสินทรัพย์เป้าหมาย โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมืออาชีพคอยดูแลจัดพอร์ตตามมุมมองและคัดเลือกกองทุนตัวท็อปให้อัตโนมัติ ปัจจุบันมีให้เลือกลงทุนทั้งหมด 3 ประเภท 6 พอร์ตการลงทุน โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนสูงสุด 7.60% สำหรับพอร์ตความเสี่ยงสูง เมื่อเทียบกับ SET ที่ -4.72% (ตัวเลข ณ 29 ส.ค. 67)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 67)

Tags: , ,