CONSENSUS: CPF Q3/67 กำไรโตไม่พัก รับราคาหมูพุ่ง ต้นทุนเลี้ยงหด

บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เก็ง Q3/67 กำไรโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน รับผลดีจากราคาเนื้อหมูฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะในจีน ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงต่ำลง หลังจากอาหารสัตว์ที่มีวัตถุดิบหลักคือถั่วเหลืองราคาปรับตัวลดลง รวมถึงได้รับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทลูก คือ บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) และ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT) จะเข้ามามากขึ้นจากที่สามารถทำยอดขายได้ดีขึ้นตามลำดับ

ราคา CPF ปิดเที่ยงวันนี้ 24.60 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาปิดก่อนหน้า

นางสาวธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองว่า CPF ไตรมาส 3/67 จะมีกำไรดีต่อเนื่อง จากราคาหมูที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงปรับลดลง จะทำให้ความสามารถทำกำไรได้ดีขึ้น โดยธุรกิจในต่างประเทศทั้งในจีนและเวียดนามอยู่ในทิศทางคล้ายกัน ซึ่งได้ประโยชน์ตันทุนการเลี้ยงลดลง สวนทางราคาขายเนื้อหมูเพิ่มขึ้น ทำให้กำไรของไตรมาส 3/67 จะออกมาไม่ต่ำกว่าไตรมาส 2/67

ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากในไตรมาส 3/67 แต่เนื่องจาก CPF มีการผลิตใน 20 กว่าประเทศทั่วโลก และขายในประเทศนั้นๆ จึงไม่ค่อยมีการส่งออกมากนัก แต่อาจจะมีการแปลงค่าเงินในงบที่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อกำไรอย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้ง คาดว่า CPF จะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทลูก คือ บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) และ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT) มากขึ้น โดยแนะนำ”ซื้อ” คงราคาเป้าหมาย 29.10 บาท

นางเพลินใจ จิระจรัส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กรุงศรี กล่าวว่า ทิศทางราคาหมูในจีนและเวียดนามดีขึ้นอย่างมาก ประกอบกับ ราคาวัตถุดิบอาหารเลี้ยงสัตว์ที่ราคาถั่วเหลืองปรับตัวลดลง ทำให้ทิศทางผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังนี้ดีกว่าครึ่งปีแรก แม้ว่าในไตรมาส 3/67 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าไตรมาส 2/67 แต่ก็มีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ในระดับใกล้เคียงกันจึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบ

“ราคาหมูในจีนสูงขึ้นมาก ทำให้ Earning ในไตรมาส 3/67 ค่อนข้างดี”

ทั้งนี้ ไตรมาส 3/67 คาดว่า CPF จะมีกำไรปกติที่ 6,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาส 2/67 ที่มีกำไรปกติ 5,595 ล้านบาท และดีกว่าไตรมาส 3/66 ที่ขาดทุน 3,733 ล้านบาท

ดังนั้น เห็นว่าแนวโน้มผลประกอบการในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก หลังจากราคาวัตถุดิบอาหารเลี้ยงสัตว์ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะถั่วเหลือง และราคาเนื้อสัตว์ในประเทศทั้งหมูและไก่ดีขึ้น และในจีนราคาหมูเพิ่มขึ้นสูงด้วย

ดังนั้น จึงปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 31.00 บาท จากการปรับประมาณการเพิ่มขึ้น กำไรปกติครึ่งปีแรกปี 67 คิดเป็น 48% ของประมาณการ คาดแนวโน้มครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาส 3/67 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เราคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานของ CPF ในงวดครึ่งหลังปี 67 จะยังคงแข็งแกร่ง ใกล้เคียงกับระดับที่เห็นในไตรมาส 2/67 โดยมีราคาหมูในประเทศไทย และต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลงเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ เราคาดว่าราคาหมูในประเทศไทยจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 74 บาท/กก.ใน H2/67 จาก 69.3 บาท/กก.ในไตรมาส 2/67

อย่างไรก็ตาม ราคาหมูในเวียดนามอาจจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากช่วงหน้าฝนในไตรมาส 3/67 นอกจากนี้ เรายังคาดว่าราคาไก่จะลดลงเล็กน้อย เพราะอุปสงค์การส่งออกน่าจะลดลงในไตรมาส 4/67

JVs และ บริษัทร่วมในธุรกิจการเกษตรจะช่วยหนุนรายได้ equity income เนื่องจากราคาหมูในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็น 19.4 หยวน/กก. QTD (จาก 16.5 หบวน /กก. ในไตรมาส 2/67) เราคาดว่าผลการดำเนินงานของ CTI ในจีนจะส่งส่วนแบ่งกำไรมาที่ CPF มากขึ้นใน H2/67 และคาดว่าส่วนแบ่งกำไรทั้งปี 67 จะอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน ผลการดำเนินงานของ JVs และบริษัทร่วมอื่น ๆ (อย่างเช่น Hylife ซึ่งเป็น JV ในแคนาดา) ก็มีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น และพลิกเป็นกำไรได้ในไตรมาส 2/67 จาการที่ CPF ดำเนินกลยุทธ์ปรับปรุงประสิทธิภาพและขายธุรกิจที่ไม่ทำกำไรออกไป

นอกจากนี้ เรายังคาดว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของ CPF จะเริ่มลดลงใน H2/67-68 จากการที่บริษัทพยายามจะลดภาระหนี้ลง อย่างไรก็ตาม เราไม่คิดว่าบริษัทจะมีกำไรจากสินทรัพย์ชีวภาพก้อนใหญ่เหมือนกับในไตรมาส 2/67

เนื่องจากราคาหมูในต่างประเทศสูงเกินคาด และ ประสิทธิภาพดีขึ้น เราจึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 67 ขึ้นอีก 85% เป็น 2.08 หมื่นล้านบาท เพราะปรับเพิ่มสมมติฐานส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทในเครือขึ้นอีก 55% เป็น 1.47 หมื่นล้านบาท (ส่วนใหญ่มาจาก CTI) รวมทั้งปรับเพิ่ม GPM ขึ้นอีก 1.6 ppts เป็น 14.3% (ธุรกิจปศุสัตว์ และ สัตว์น้ำ) และปรับลดสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายลง 0.4 ppts เหลือ 8.7% ถึงแม้ว่าผลบวกจากการปรับปรุงประสิทธิภาพจะช่วยหนุนกำไรสุทธิในปีหน้า แต่เราคาดว่าราคาหมูในต่างประเทศ (เวียดนาม และ จีน) จะปรับตัวจากระดับในปีนี้กลับเข้าสู่ระดับปกติ

ดังนั้น เราจึงปรับเพิ่มกำไรสุทธิปีหน้าขึ้นเพียง 23% เป็น 1.49 หมื่นล้านบาท โดยสาเหตุสำคัญคือสัดส่วน SG&A ต่อยอดขาย และ ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 67)

Tags: , , , ,