“ธนัช จุวิวัฒน์” ลั่นเดินหน้านำทัพ YGG ปรับกลยุทธ์แก้วิกฤติแม้สูญเสียอำนาจถือหุ้นใหญ่

นายธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อิ๊กดราซิล กรุ๊ป (YGG) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแม้จะไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ใน YGG แต่ยังคงเดินหน้าบริหารธุรกิจอย่างมุ่งมั่นตามแนวทางเดิมที่ได้วางไว้ตั้งแต่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการพัฒนางานดิจิตอลคอนเทนต์ในประเทศให้เติบโต และผลักดันผลงานไปสู่เวทีระดับโลก เพราะมองเห็นโอกาสการเติบโตในประเทศที่ยังมีสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขทางธุรกิจในตลาดโลกที่มีขนาดใหญ่มาก และจากประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์ของ YGG กว่า 20 ปี ผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทำให้ลูกค้าในประเทศและต่างประเทศมั่นใจในศักยภาพของบริษัท ยังคงมีการจ้างงานและแนะนำลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“สิ่งที่ผมทำคือปัจจุบันทำตรงนี้ให้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้ถือหุ้น ลูกค้า พันธมิตรเห็นผลงานของเรา เมื่อเกิดวิกฤตเราพร้อมปรับตัวให้ไว ได้เรียนรู้เพื่อเติบโตและไปต่อ เพื่อให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน YGG เรามีจุดแข็งจากการประสบการณ์การทำงานมานาน และส่วนสำคัญที่ลูกค้ายังให้ความมั่นใจเชื่อมั่นในผลงาน เราทำทุกอย่างให้ตอบโจทย์ ทำงานอย่างคุณภาพงาน ความรวดเร็วตรงเวลา ตามทันเทรนด์ตลาด มีต้นทุนที่แข่งขันได้ในตลาดโลก” นายธนัช กล่าว

บริษัทได้มีการปรับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะสั้น เพื่อเสริมสภาพคล่อง และเพิ่มกระแสเงินสดให้กับบริษัท โดยการรับงานเซอร์วิสที่มีระยะเวลา 3 – 6 เดือนเพิ่มมากขึ้น และมีการปรับโครงสร้างด้านต้นทุนของบริษัท โดยการนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยในกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และความรวดเร็ว รวมทั้งยังช่วยลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทด้วย

สำหรับปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วคราว ซึ่งเกิดจากการร่วมลงทุนสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูด Home Sweet Home Rebirth ที่ต่อยอดจากการพัฒนา IP ของบริษัท ซึ่งได้ใช้เงินลงทุนประมาณ 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในขั้นตอนการดีลซื้อสิทธิ์มีความล่าช้า จากการพิจารณาเพื่อให้ได้ดีลที่ดีที่สุด และในระหว่างที่รอพิจารณาดีล ทางด้านทีมงานได้ร่วมปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเติมให้เพื่อให้ผลงานออกมาสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งขณะนี้ภาพยนตร์ได้ผลิตเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายธนัช กล่าวอีกว่า เพื่อให้บริษัทมีกระแสเงินสด ในการเสริมสภาพคล่อง จึงได้ชะลอการพัฒนาส่วนของ IP ที่เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน หรืองานที่ต้องลงทุนเอง 100% ไว้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานโปรเจคใหม่ ๆที่ใช้ระยะเวลาในการพัฒนานาน และยังไม่ก่อให้การรับรู้รายได้ในทันที รวมทั้งมีการใช้ต้นทุนสูง ในอนาคตหลังสภาพคล่องกลับคืนมา บริษัทมีแผนปรับรูปแบบการพัฒนา IP ร่วมกันพันธมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะการต่อยอดจากผลงานของบริษัท

“ที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหา Cash Flow เราก็ปรับตัวได้เร็วมาก รับงานระยะสั้นเพื่อเก็บเงินสด Offer กับลูกค้าที่จ่ายเงินเร็ว เพื่อให้ได้เงินสดมาเพิ่มสภาพคล่องกับบริษัทมากที่สุด และได้ปรับโครงสร้างต้นทุน ในการลดต้นทุน Fixed Cost ถ้ามีงานมากก็มีการจ้างเอาท์ซอส ถ้างานน้อยก็จะไม่กระทบกับ Fixed Cost มาก ที่สำคัญการนำ AI มาช่วย จะผลิตงานได้เร็วขึ้น ส่งงานเร็ว รายได้ก็เข้ามาเร็ว “ นายธนัช กล่าว

ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นายธนัช กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทยังมีการทยอยชำระคืนเงินกู้ทุกเดือน และขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอพิจารณาอนุมัติแผนข้อเสนอการชำระคืนเงินกู้จากธนาคาร คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเร็วๆนี้

นายธนัช กล่าวถึง ความคืบหน้าในการเจรจาซื้อขายสิทธิ์ Home Sweet Home Rebirth ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ซื้อหลายรายที่ให้ความสนใจอยากซื้อสิทธิ์ ขณะที่บริษัทเตรียมเข้าร่วมงานบนเวทีระดับโลก The Toronto International Film Festival ประเทศแคนนาดา และงาน American Film Market (AFM) ในสหรัฐอเมริกา เพื่อเพิ่มช่องทางเจรจาขายสิทธิ์ภาพยนตร์ให้กับผู้ซื้อทั้งของสหรัฐและนอกสหรัฐ โดยจะพิจารณาเงื่อนไขที่ดีที่สุด ซึ่งการซื้อขายสิทธิ์ภาพยนตร์จะเป็นดีลที่สำคัญสำหรับการสร้างรายได้ก้อนใหญ่ในรูปแบบใหม่ให้กับบริษัท คาดว่าจะมีรายได้ใหม่เข้ามาในปี 68

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ส.ค. 67)

Tags: , , ,