ญี่ปุ่นขาดแคลนนักบิน หวั่นกระทบเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60 ล้านคน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นในเดือนก.ค. มีจำนวนทั้งสิ้น 3.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 41.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และทุบสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดในเดือนเดียว โดยได้รับแรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวรวมตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค. อยู่ที่ราว 21.07 ล้านคน ทำสถิติทะลุระดับ 20 ล้านคนในอัตรารวดเร็วที่สุด

แต่ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อสัมผัสกับบริการต้อนรับที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซูชิชั้นเลิศ และศาลเจ้าโบราณ สายการบินของประเทศกลับกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนนักบินอย่างหนัก และการหานักบินใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีนักบินประมาณ 7,100 คน และรัฐบาลประมาณการว่าประเทศจำเป็นต้องมีนักบินเพิ่มอีก 1,000 คนภายในปี 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ 60 ล้านคนในปีเดียวกัน นอกจากการเฟ้นหานักบินจากต่างประเทศแล้ว คณะกรรมการที่กระทรวงคมนาคมจัดตั้งขึ้นเมื่อช่วงต้นปีนี้ กำลังพิจารณามาตรการต่าง ๆ เช่น การทำให้ขั้นตอนการแปลงใบอนุญาตของนักบินชาวต่างชาติเป็นใบอนุญาตของญี่ปุ่นนั้นกระชับรวดเร็วขึ้นและมีค่าใช้จ่ายถูกลง

อย่างไรก็ตาม การจ้างนักบินจากต่างชาติเป็นเรื่องท้าทายด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิ การต่อต้านจากสหภาพท้องถิ่น และการที่สายการบินญี่ปุ่นเสนอค่าตอบแทนต่ำกว่าสายการบินอื่น ๆ นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมยังเผยด้วยว่า ปัญหาการขาดแคลนนักบินกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการที่ปัจจุบันนักบินจำนวนมากอยู่ในช่วงอายุประมาณ 50 ปี ซึ่งหมายความว่านักบินกลุ่มนี้จะเกษียณอายุในราว ๆ ปี 2573

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า โดยเฉลี่ยแล้ว นักบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ (JAL) และสายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์ (ANA) ได้รับเงินเดือนต่อปีประมาณ 25 ล้านเยน (172,900 ดอลลาร์) ขณะที่นักบินที่มีประสบการณ์การบิน 12 ปีจะได้รับค่าตอบแทนจากสายการบินเดลต้าแอร์ไลน์ (Delta Airlines) ที่ประมาณ 453,000 ดอลลาร์ และประมาณ 480,000 ดอลลาร์สำหรับนักบินของอเมริกันแอร์ไลน์ (American Airlines)

นอกจากนี้ การหลั่งไหลเข้ามาของนักบินต่างชาติจำนวนมากอาจสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นซึ่งกังวลว่าจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือถูกมองข้ามในการเลื่อนตำแหน่ง อีกทั้งนักบินญี่ปุ่นมักมองว่าอาชีพของตนเป็นอาชีพที่หากเป็นแล้วต้องเป็นไปตลอดชีวิต โดยที่ผ่านมา นักบินส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าสู่อาชีพนี้ผ่านการเปิดรับสมัครนักบินใหม่โดย ANA หรือ JAL หรือมิฉะนั้นก็สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการบินพลเรือนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งรับนักเรียนปีละประมาณ 100 คน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 67)

Tags: