นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะเติบโตมากกว่าครึ่งปีแรกตามแผนเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มอีก 40.03 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็ม โคราช, โรงผลิตไฟฟ้านวนคร ส่วนขยาย, โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซองเกียง 1 และโครงการ LG2 BESS
นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถปิดดีลซื้อกิจการ (M&A) ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนราว 5-6 ดีลได้ภายในปีนี้ คาดสนับสนุนกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ปี 67 เพิ่มขึ้นเข้าเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน RATCH รับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 10,817.28 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวม 7,842.61 เมกะวัตต์ (72.5%) และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทน รวม 2,974.67 เมกะวัตต์ (27.5%)
ขณะที่บริษัทวางงบลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังไว้ 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง โดย 80% จะใช้ในโรงไฟฟ้า หินกอง ชุดที่ 2 กำลังการผลิต 392.70 เมกะวัตต์ และอีก 20% จะใช้สำหรับโรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็ม โคราช และโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ ที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน
บริษัทได้มีการปรับแนวทางการลงทุนใหม่ โดยหันมาให้น้ำหนักกับการลงทุนประเภท Green field มากขึ้นเป็น 80% และการ M&A ลดลงมาที่ 20% จากเดิม 50:50 เนื่องจากได้ทีมงานที่มีศักยภาพทั้งในสิงค์โปร์ ออสเตรเลีย เวียดนามเข้ามา ทำให้มองโอกาสในการต่อยอด ประกอบกับอัตราผลตอบแทนของ Greenfield นั้นสูงกว่าการทำ M&A โรงไฟฟ้าเพิ่มเติม
บริษัทปรับกลยุทธ์การลงทุนให้มามุ่งเน้นโครงการที่อยู่ในแนวทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละประเทศได้กำหนดกรอบการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไว้ชัดเจนแล้ว ซึ่งครอบคลุมกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS)การผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียว การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: DPPA) และการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Reactor Modular: SMR)
“บริษัททบทวนและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยยังคงมุ่งเน้นธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงาน พร้อมทั้งวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกและประเทศ รวมถึงศักยภาพและขีดความสามารถของบริษัทฯ ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเน้นโครงการประเภทกรีนฟิลด์และบราวน์ฟิลด์ โดยจะเข้าร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศเป้าหมาย ประกอบด้วย ไทยและอินโดนีเซีย มีโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซธรรมชาติ, สปป. ลาว มีศักยภาพลงทุนด้านพลังงานน้ำเพื่อขายไฟให้กับไทย ส่วนออสเตรเลียมีศักยภาพพัฒนาโครงการพลังงานลม แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการประเภท Synchronous Condenser ที่ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
บริษัทฯ ยังได้เริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่และเทคโนโลยีพลังงานอนาคต ซึ่งสามารถต่อยอดจากสินทรัพย์และศักยภาพ ความสามารถของบริษัทที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการกรีนไฮโดรเจน ได้ร่วมกับ BIG พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนจากโครงการที่มีอยู่ในไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการขนาด 100 MW/200 MWh ในรัฐนิวเซาท์เวลส์
โครงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรงในประเทศไทย ซึ่งกำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาโครงการนำร่องในนิคมอุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ก็ได้ร่วมกับพันธมิตรทำการศึกษาเทคโนโลยี กฎระเบียบ และประเมินผลกระทบด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากมีการนำมาใช้บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า การดำเนินตามแนวทางแผนกลยุทธ์ที่วางไว้จะทำให้ราช กรุ๊ป เดินหน้าไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสามารถขยายธุรกิจสร้างการเติบโต ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายนิทัศน์ กล่าว
ทั้งนี้ RATCH มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ในปี 73 และเป็น 40% ในปี 78
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 67)
Tags: RATCH, นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์, ราช กรุ๊ป, หุ้นไทย