หุ้น BTS-BEM ดีดตัวขึ้นรับข่าว รมว.คมนาคมปฏิเสธยึดสัมปทานรถไฟฟ้า แต่อยู่ระหว่างการศึกษาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขอซื้อคืนจากภาคเอกชน
เมื่อเวลา 11.12 น.
- BTS ปรับขึ้น 4.25% มาที่ 4.42 บาท เพิ่มขึ้น 0.18 บาท มูลค่าซื้อขาย 352.43 ล้านบาท
- BEM ปรับขึ้น 3.95% มาที่ 7.90 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท มูลค่าซื้อขาย 312.95 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดการยึดคืนสัมปทานรถไฟฟ้า แต่ข่าวที่สื่อออกไปอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดทำนองว่ารัฐบาลมีนโยบายจะไปยึดสัมปทานรถไฟฟ้าคืน ไปรังแกเอกชน ทำให้เกิดความกังวลและส่งผลไปถึงราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
โดยข้อเท็จจริงในการสื่อสารของนายทักษิณที่พูดในวันนั้นไม่ได้หมายความแบบว่าจะยึดสัมปทาน แต่ข้อเท็จจริงคือรัฐบาลอยากให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้รับการบริการรถไฟฟ้าในราคาที่ถูก และสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงคมนาคมในการดำเนินโครงการค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย
นายสุริยะ กล่าวว่า แนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลนั้น กระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาจากโมเดลในต่างประเทศหลายๆ ประเทศ เพื่อทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสารสอดคล้องนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเพื่อลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน
รัฐบาลไม่ได้ต้องการยึดสัมปทานรถไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่จัดทำไว้กับเอกชน แต่จะยึดถือสัญญาที่ได้ทำไว้เป็นหลัก ซึ่งยังเป็นเพียงแนวคิดที่รัฐบาลอาจจะพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการซื้อคืนระบบการเดินรถที่เอกชนได้ลงทุนไป รวมถึงสิทธิการให้บริการเดินรถตามสัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับเอกชนกลับคืนมา แต่ก็ยังคงจะจ้างเอกชนรายเดิมเดินรถต่อไป ทั้งนี้เพื่อทำให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบายค่าโดยสาร และสามารถเก็บ 20 บาทตลอดสายได้โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานเดิม
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ถึงความเป็นไปได้ในการนำรายได้ส่งเข้ากองทุนฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นและเพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรจิดขัดอีกด้วย
กองทุนฯที่จัดตั้งขึ้นจะเข้ามาเจรจาซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสายสีชมพูสีเหลืองและสีส้ม ที่ยังมีอายุสัมปทานเหลืออีกกว่า 20 ปี ยกเว้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังเหลืออายุอีกประมาณ 5 ปีเท่านั้น ก็จะจ้างเท่าที่อายุสัมปทานเหลืออยู่ โดยเมื่อรัฐซื้อคืนสัมปทานกลับมาแล้วจะปรับรูปแบบสัญญาจากสัมปทาน PPP Net Cost เป็นการจ้างเดินรถ หรือ PPP Gross Cost โดยจะจ้างเอกชนรายเดิมที่ยังไม่หมดสัมปทานเดินรถต่อไปจนหมดสัญญา ดังนั้นเอกชนจะไม่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงในการเดินรถจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบสัญญาจ้างดังกล่าว
“เป้าหมายของเรื่องนี้คือ ต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด มั่นใจว่าประชาชนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในราคาไม่เกิน 20 บาทตลอดสายแน่นอน ส่วนเอกชนรายเดิมยังเป็นผู้เดินรถต่อไป เพราะจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาจ้างเดินรถ เอกชนจะไม่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยง ผมขอยืนยันว่าไม่มีเรื่องยึดคืนสัมปทานจากเอกชนแน่นอน เพราะหากรัฐบาลทำแบบนั้นต่อไปเอกชนที่ไหนจะกล้ามาลงทุนส่วนการเจรจาซื้อคืน และจ้างเดินรถแบบใหม่นี้ จะมีระยะเวลาจ้างตามอายุสัญญาที่เอกชนเหลือแต่ละโครงการ”
นายสุริยะ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าที่ผ่านมารัฐเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างโครงสร้างานโยธา ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70-80% ของมูลค่าโครงการ อีก 20-30% ที่เป็นค่าระบบและรถไฟฟ้า ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและให้สัมปทานเดินรถและดูแลรักษาไปอีก 30 ปี กลายเป็น รัฐลงทุนมาก แต่เสียโอกาสในการกำหนดค่าโดยสารถูกๆ เพื่อประชาชน ซึ่งการปรับเป็นจ้างเดินรถจะดีกว่า คล้ายสายสีม่วงที่จ้างเอกชนเดินรถแบบ PPP Gross Cost ตอนนี้ใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายได้ และทำให้มีประชาชนหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมากตามเป้าหมายที่ส่งเสริมการใช้ระบบรางเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 และประหยัดพลังงานด้วย
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สัญญาสัมปทานระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC (บริษัทในกลุ่ม BTS) จะครบกำหนดในปี 2572 หลักการคือ สายสีเขียวหากได้ข้อสรุปเรื่องการจ้าง BTS จะได้รับจ้างเดินรถต่อไปจนครบสัญญาปี 2572 หลังหมดสัญญาแล้วก็จะเป็นการประมูลหาผู้รับจ้างเดินรถรายใหม่ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร
นายสุริยะ กล่าวว่า ขอให้รอรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยก่อน เรื่องการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจะมีการแนวทางดำเนินการ เท่าที่มีการปรึกษากับกระทรวงการคลังมีแนวทางการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อระดมเงินซื้อกิจการรถไฟฟ้าจากเอกชน ส่วนจะเอาเงินจากไหนเข้ามาคงต้องปรึกษากระทรวงการคลัง และกองทุนนี้จะแยกกับกองทุนที่จะเอาไปอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
“เบื้องต้น กระทรวงจะต้องมีการศึกษาให้เกิดความชัดเจน ส่วนแนวคิด Congestion charge ประเทศอื่นมีการเก็บจริงๆ และส่วนตัวได้ไปดูโมเดลนี้ที่ประเทศอังกฤษมาแล้ว จึงคิดว่าในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บ เมื่อมีระบบขนส่งครบบริบูรณ์แล้ว เช่น ย่านถนนรัชดาภิเษก ถ้าตรงนั้นมีรถไฟฟ้าครอบคลุมแล้ว อาจจะต้องเก็บ หรือแถวถนนสุขุมวิทก็อาจจะต้องเก็บ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้” นายสุริยะกล่าว
สำหรับการซื้อคืนระบบรถไฟฟ้าจะใช้เวลาศึกษาเท่าไหร่ จะชัดเจนเมื่อใด และถ้าทำจริงต้องทุกสีทุกสายเลยไหม นายสุริยะกล่าวว่า ต้องขอดูก่อน เบื้องต้นอาจจะร่วมกันกับกระทรวงการคลัง แต่ขอให้รอรัฐบาลแถลงนโยบายก่อน ส่วนจะต้องรอให้รถไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จทุกสายก่อนหรือเปล่านั้น คิดว่าตอนนี้บางจุดมีรถไฟฟ้าผ่านครบแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องไปจ้างที่ปรึกษาว่าสมควรทำตรงจุดไหนก่อน เก็บเท่าไร เรื่องนี้ ยังไม่เคยศึกษามาก่อน อาจจะมอบ สนข.เป็นผู้ศึกษา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 67)