“สุริยะ”สั่งทุกหน่วยงานคมนาคมลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตราย ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม และขอให้เฝ้าระวังบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย

โดยจากการรายงานของศูนย์ Command Center ภัยพิบัติกระทรวงคมนาคม มีโครงข่ายคมนาคมที่ได้รับผลกระทบสะสมรวม 144 แห่ง ผ่านไม่ได้ 11 แห่ง ได้แก่ ทางหลวง ได้รับผลกระทบ 67 แห่ง ผ่านไม่ได้ 4 แห่ง ทางหลวงชนบท ได้รับผลกระทบ 76 แห่ง ผ่านไม่ได้ 6 แห่ง และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับผลกระทบ 1 แห่ง ผ่านไม่ได้ 1 แห่ง

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ทันที พร้อมทั้งเร่งให้นำของใช้และอาหารเพื่อช่วยเหลือยังพื้นที่ และเข้าร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีและเฝ้าระวังเหตุตลอดเวลา พร้อมทั้งให้ดำเนินการเร่งติดตั้งสะพานเบลีย์ในทุกพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อให้การสัญจรของพี่น้องประชาชนสามารถจราจรได้อย่างสะดวก ปลอดภัย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากการรายงาน กรมเจ้าท่า (จท.) ได้นำของช่วยเหลือไปยังพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ และพื้นที่อื่น ๆ ที่เกิดเหตุอุทกภัย รวมถึงเข้าร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน พร้อมที่จะดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพร้อมเฝ้าระวังเหตุอย่างใกล้ชิด

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ) ได้รายงานว่า ขณะนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นดำเนินการขุดขยายคอสะพาน บริเวณคลองน้ำไหล อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รฟท. จึงมีความจำเป็นต้องประกาศหยุดเดินขบวนรถท้องถิ่น 405/406 ศิลาอาสน์ – สวรรคโลก เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป

ด้านกรมท่าอาศยาน (ทย.) รายงานว่า ขณะนี้ได้เข้าร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพร้อมเฝ้าระวังเหตุตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งได้นำของช่วยเหลือไปยังพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ และพื้นที่อื่น ๆ ที่เกิดเหตุน้ำท่วม

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กรมทางหลวง (ทล.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วม และดินสไลด์ ในโครงข่ายทางหลวง (ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2567) ได้รับผลกระทบใน 3 จังหวัด รวม 8 แห่ง สามารถจราจรผ่านได้ 4 แห่ง และผ่านไม่ได้ 4 แห่ง โดยสถานการณ์น้ำท่วมและดินสไลด์เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวง แจกถุงยังชีพให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งติดตั้งสะพานเหล็กให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างปลอดภัย

ขณะที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รายงานว่า ทช. ได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร วัสดุ พร้อมติดตั้งป้ายเตือนประชาชนในการสัญจรด้วยความระมัดระวังเป็นที่เรียบร้อย และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับสถานการณ์ล่าสุด (ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2567) พื้นที่ภายใต้การดูแลมีประสบอุทกภัย 5 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา สุโขทัย ได้รับผลกระทบ 18 สายทาง สามารถสัญจรได้ 3 สายทาง และสัญจรผ่านไม่ได้ 15 สายทาง ทั้งนี้ ทช. ยังคงเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ความเป็นอยู่ทุกหลังคาเรือนและการเดินทางทุกพื้นที่กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดนั้น มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลายแห่ง ซึ่งต้องฝ้าระวังบริเวณพื้นที่เสี่ยง ดังนี้ ภาคเหนือ 13 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ประกอบด้วย เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น และภาคใต้ 11 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 67)

Tags: , ,