นักวิเคราะห์ของสถาบันการเงินต่างชาติมองว่า เงินบาทของไทยกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นล่าสุด ก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประชุมในวันพุธนี้ (21 ส.ค.)
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เงินบาทเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ทำผลงานดีที่สุดในภูมิภาคนับตั้งแต่เดือนก.ค. โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว หลังจากที่เงินบาทเคยดิ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในเดือนพ.ค. อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเงินบาทอาจได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองของไทยที่จบลงด้วยการที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
แม้ว่าชัยชนะของน.ส.แพทองธารจะช่วยให้ความวุ่นวายทางการเมืองบรรเทาลง และทำให้นักลงทุนสามารถมุ่งความสนใจไปที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่เงินบาทอาจเผชิญกับแรงกดดัน เนื่องจากน.ส.แพทองธารสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและยังส่งสัญญาณบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับธปท. นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลชุดใหม่อาจจะยกเลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์
คริสโตเฟอร์ หว่อง นักกลยุทธ์ด้านปริวรรตเงินตราจากธนาคารโอซีบีซี แบงก์ สิงคโปร์ กล่าวว่า “เงินบาทซบเซาลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อันเนื่องมาจากความผันผวนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา เรายังคงจับตาดูว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะถูกยกเลิกหรือไม่ หรือจะมีมาตรการทดแทนอื่นๆ หรือไม่ แต่ในระยะสั้นนี้ เราคาดว่าเงินบาทอาจเผชิญกับความผันผวนที่สูงขึ้น”
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นและความน่าดึงดูดด้านการลงทุนของไทยยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่นักวิเคราะห์ในตลาดจับตา นอกจากนี้ ตลาดยังวิตกกังวลต่อกรณีที่น.ส.แพทองธารได้วิพากษ์วิจารณ์ธปท.ว่าเป็น “อุปสรรค” ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
นักวิเคราะห์มองว่า ในทางเทคนิคแล้ว การที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์เมื่อไม่นานมานี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่เปราะบาง และขณะนี้เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ได้เข้าสู่ภาวะขายมากเกินไป (oversold) โดยนักวิเคราะห์บางรายคาดการณ์ว่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าถึง 37.5 บาทต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนเมื่อเวลา 08.00 น.ตามเวลาไทยในวันนี้ เงินบาทมีการซื้อขายที่ระดับ 34.5 บาทต่อดอลลาร์
เทรดเดอร์ต่างพากันจับตาผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธปท.ในวันที่ 21 ส.ค.นี้ โดยคาดว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50%
ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐที่ปรับตัวแคบอันเนื่องมาจากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย.นั้น อาจจะเป็นปัจจัยหนุนเงินบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 67)
Tags: การเมือง, ค่าเงินบาท, เงินบาท, เศรษฐกิจไทย