นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากรูปแบบการค้าในปัจจุบันที่มีการรุกตลาดแรงและเร็วผ่านระบบออนไลน์ เน้นการขายด้วยสินค้าต้นทุนถูก ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME ที่ปรับตัวไม่ทัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้ประกาศ 9 มาตรการ เร่งเสริมแกร่งติดอาวุธผู้ประกอบการไทยรับมือรูปแบบการค้ายุคใหม่ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างเข้มแข็งและเติบโตอย่างมีศักยภาพ พร้อมเร่งทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย ประกอบด้วย
1. การขยายช่องทางการตลาดผ่านออนไลน์ โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการให้ใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ในการขยายตลาด
1.1) การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้าน e-Commerce ให้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ เช่น หลักสูตรปั้นร้านค้าออนไลน์ขั้นเทพ (Online Marketing Genius: OMG) หลักสูตรปั้นเจ้าของธุรกิจให้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ (The Influencer Journey : TIJ) และ หลักสูตรสร้างนักขายออนไลน์มืออาชีพ (Smart Trader Online) ซึ่งมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการได้รับการอบรมทั้ง 3 หลักสูตรรวมกว่า 4,000 ราย
1.2) การสร้างโอกาสทางการตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Booster) ผ่าน หลักสูตรชุมชนออนไลน์นวัตกรรมรักษ์โลก (Digital Village by BCG) เป็นกิจกรรมยกระดับชุมชน โดยการนำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเหลือชุมชนที่อยู่ห่างไกลให้สามารถทำการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง โดยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีเป้าหมาย 20 ชุมชนทั่วประเทศ
1.3) สร้างความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าออนไลน์ (Trust and Security) ผ่านเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) และเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ (DBD Verified)
1.4) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Market Collaboration) ยกระดับสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา e-Commerce ecosystem ผ่านงานมหกรรม Thailand e-Commerce Expo 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 21 สิงหาคม 2567 ณ ไอคอนสยาม โดยมีผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย 3,000 ราย รวมถึงการสร้างเครือข่ายแพลตฟอร์มและส่งเสริมการค้าออนไลน์ในประเทศ โดยการจัดทำหน้า Landing Page บนแพลตฟอร์ม e-Marketplace และ Social Commerce ที่มีชื่อเสียง เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการไทยในแพลตฟอร์มเหล่านั้นอีกด้วย
2. สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SME โดยนำผู้ประกอบการชุมชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย/รายย่อมออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้า ณ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าชื่อดัง เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าและบริการ เป็นการขยายช่องทางการตลาดผ่านการสัมผัสจับต้อง เช่น โครงการส่งเสริมพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการรายย่อยก้าวทันการค้ายุคใหม่ ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 2 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสเกต จ.นนทบุรี, โครงการส่งเสริมกระจายสินค้าพื้นถิ่นไทยสู่ตลาด จัดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567 ณ ไอคอนสยาม, นำผู้ประกอบการธุรกิจบริการและสินค้าสุขภาพและความงาม อาทิ ธุรกิจสปา ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ร่วมออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้า ภายในงาน Thailand Wellness & Healthcare Expo 2024 ระหว่างวันที่ 16 – 18 สิงหาคม 2567 ณ ไบเทค บางนา พร้อมทั้งนำผู้ประกอบการชุมชนเข้าเจรจาจับคู่ธุรกิจกับเทรดเดอร์/บายเออร์รายใหญ่ของประเทศ เพื่อขยายตลาดและสร้างการรับรู้ให้แก่สินค้ามากขึ้น
3. การส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าชุมชนของไทย ทั้งการช่วยประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD Smart Local BCG ให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคมากขึ้น
4. การเจรจาหาพื้นที่จำหน่ายสินค้าฟรีหรือราคาพิเศษให้ผู้ประกอบการชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ ปัจจุบันมี 19,000 ทำเล
5. เสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ เช่น การเสริมทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data-Driven Decision) เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางการผลิตสินค้าที่โดนใจผู้บริโภค การทำ Branding การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาสินค้า/ธุรกิจ และการยกระดับธุรกิจเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานสากล เป็นต้น
6. ส่งเสริมการเชื่อมโยงพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล ส่งต่อความรู้และลูกค้าระหว่างกัน เช่น การรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศ จัดงานสัมมนา ‘พลิกโฉมธุรกิจ พิชิตโอกาส’ ระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2567 ณ จ.เชียงราย และการรวมกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมฯ
7. การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ด้วยระบบแฟรนไชส์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีแต้มต่อในการประกอบธุรกิจจากแบรนด์และแผนธุรกิจที่ผ่านความสำเร็จมาแล้ว
8. เสริมศักยภาพร้านค้าโชห่วยด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ทั้งด้านความรู้ และใช้ POS บริหารจัดการร้านค้า เพื่อลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย และนำร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นต้นแบบที่ผ่านการพัฒนาจากกรม ไปเป็นพี่เลี้ยงยกระดับร้านโชห่วยให้มีภาพลักษณ์ที่ดี มีความสามารถในการแข่งขัน พร้อมเชื่อมโยงกับซัพพลายเออร์เพื่อเป็นพันธมิตรในการทำธุรกิจ
9. อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลา และเพิ่มความเชื่อมั่นในการเข้าใช้บริการกับกรมฯ เช่น การให้บริการข้อมูลธุรกิจ ผ่านระบบ DBD DataWarehouse+ การให้บริการหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Certificate File) และการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะเร่งทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย จากการเข้ามาแข่งขันและจัดตั้งธุรกิจโดยผิดกฎหมายของต่างชาติ ซึ่งรวมถึง การตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจบริการตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.ฯ และต้องการถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ต้องเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตโดยถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 67)
Tags: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กระทรวงพาณิชย์, ผู้ประกอบการ, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม