นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวโน้มการจดทะเบียนธุรกิจในปี 2567 ว่า ยังคงคาดการณ์การเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่ 5 – 15% (90,000 – 98,000 ราย) ซึ่งมีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจากปัจจัยสนับสนุน เช่น นโยบายของภาครัฐ การเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติที่มีการกระตุ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี เช่น มาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการผลิตและกิจการ รวมทั้งการลงทุนจากภาครัฐที่กำลังดำเนินการหลังจากที่เริ่มจัดสรรงบประมาณในปี 2567 การดำเนินการของภาครัฐทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม
รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ที่ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญ ซึ่งจากแผนงานของภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วง High Season ฤดูการท่องเที่ยวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนไทยสูงสุดของปี ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยก็นิยมท่องเที่ยวช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน น่าจะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และธุรกิจอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย และคาดว่าจะมีนักลงทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยท้าทาย เช่น ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากมีผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและกระทบมาถึงเศรษฐกิจของไทย รวมทั้ง การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME โดยตรง โดยหากงบประมาณลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคโดยทันทีเช่นเดียวกัน
ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.67) มีสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ รวมทั้งสิ้น 46,383 ราย ลดลงเล็กน้อย 903 ราย หรือลดลง 1.91% ทุนจดทะเบียนรวม 145,078.60 ล้านบาท ลดลง 66.15%
เหตุที่ทุนจดทะเบียนลดลงมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 เนื่องจากในช่วงนั้น มีบริษัทที่มูลค่าทุนจดทะเบียนเกิน 1 แสนล้านบาท ควบรวมกิจการและแปรสภาพจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ 1. การควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เดิม และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เป็น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ใหม่ โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 138,208.40 ล้านบาท และ 2. การแปรสภาพบริษัทจำกัด เป็น บริษัทมหาชนจำกัด ของ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีมูลค่าทุน 124,435.03 ล้านบาท จึงทำให้ทุนจดทะเบียนในปี 2566 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
1. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3,656 ราย ทุน 16,013.34 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.88%
2. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 3,521 ราย ทุน 7,255.18 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.59%
3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2,105 ราย ทุน 4,352.90 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.54%
นางอรมน กล่าวว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรก ที่จำนวน 46,383 ราย เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 44,000 – 47,000 ราย คาดว่าเป็นผลจากมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ เช่น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเพื่อการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า เสถียรภาพทางการเมือง และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ
- ธุรกิจก่อสร้าง เลิกกิจการมากสุดในครึ่งปีแรก
ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรก มีธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ 6,039 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,058 ราย (ลดลง 14.91% ส่วนทุนจดทะเบียน 76,748.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27,143.63 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 54.72%) โดย 3 อันดับแรก ได้แก่
1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 603 ราย ทุน 1,209.18 ล้านบาท
2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 340 ราย ทุน 4,863.76 ล้านบาท
3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 197 ราย ทุน 457.21 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากจำนวนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการดังกล่าว ส่งผลให้ ณ วันที่ 30 มิ.ย.67 มีธุรกิจที่เปิดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 922,508 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22,334,762.09 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) บริษัทจำกัด 719,281 ราย (77.97%) ทุน 16,110,875.13 ล้านบาท (72.14%) 2) ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 201,757 ราย (21.87%) ทุน 472,044.11 ล้านบาท (2.11%) และ 3) บริษัทมหาชนจำกัด 1,470 ราย (0.16%) ทุน 5,751,842.85 ล้านบาท (25.75%)
- ครึ่งปีแรก อนุญาตต่างชาติลงทุน 385 ราย เงินทุนกว่า 8 หมื่นลบ.
ส่วนการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (มกราคม – มิถุนายน) มีการอนุญาตแล้ว 385 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 106 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 279 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 81,487 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,852 คน
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก เป็นดังนี้ 1. ญี่ปุ่น จำนวน 103 ราย (27%) เงินลงทุน 44,018 ล้านบาท 2. สิงคโปร์ จำนวน 63 ราย (16%) เงินลงทุน 7,379 ล้านบาท 3. สหรัฐอเมริกา จำนวน 60 ราย (16%) เงินลงทุน 1,223 ล้านบาท 4. จีน จำนวน 42 ราย (11%) เงินลงทุน 5,997 ล้านบาท และ 5. ฮ่องกง จำนวน 31 ราย (8%) เงินลงทุน 12,062 ล้านบาท
ขณะที่การลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ EEC ช่วงครึ่งปีแรกนี้ มีจำนวน 116 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 21,034 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC สูงสุด ได้แก่ 1. ญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 5,225 ล้านบาท 2. จีน 21 ราย ลงทุน 1,918 ล้านบาท 3. ฮ่องกง 12 ราย ลงทุน 5,008 ล้านบาท และ 4. ประเทศอื่นๆ 43 ราย ลงทุน 8,883 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 67)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, จดทะเบียนธุรกิจ, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม