นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง ชี้แจงถึงกรณีที่มีการมองว่าการกู้เงินเพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับประเทศว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยหดตัวอย่างต่อเนื่อง หากรัฐบาลไม่ทำอะไรเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ วิกฤติเศรษฐกิจก็จะมาแน่ไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
รมว.คลัง กล่าวว่า ผลจากวิกฤติเศรษฐกิจ จะกระทบกับ 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ประชาชน ทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2. หนี้ร้านค้า ซึ่งเกิดจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง เพราะมีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ดังนั้นรัฐบาลต้องดูแลให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ และ 3. เมื่อประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังซื้อลด ไม่ว่ารัฐบาลไหนที่มีหน้าที่ดูแลประชาชน ก็จำเป็นต้องกู้เงิน ซึ่งเป็นการสร้างหนี้เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาประเทศ
“ถามว่าไม่ต้องสร้างได้ไหม ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ เพื่อให้ทั้ง 2 ส่วนกลับมาตั้งตัวได้ ในภาวะที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกัน แม้หนี้ภาครัฐจะเพิ่มขึ้น การจะดูว่าหนี้มาก หนี้น้อยนั้น สิ่งที่สำคัญกว่า คือดูว่าเรามีความสามารถในการชำระคืนหรือไม่มากกว่า” นายพิชัย กล่าว
ส่วนที่มีการมองว่าเหตุใดรัฐบาลจึงไม่ใช้งบประมาณในการปรับโครงสร้างก่อนนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า เราจะต้องทราบก่อนว่าทำให้ใคร และใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาเพื่ออะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อยู่ระหว่างการพิจารณา และระหว่างการเซ็นสัญญาของบีโอไอ ที่จะเป็นตัวบอกว่า ปัญหาโครงสร้างที่ควรแก้คืออะไร และจะออกผลควบคู่ไปกับกระบวนการผลิตและการลงทุน เพื่อให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขัน
“นี่คือการจัดสรรงบประมาณ ในจังหวะที่เราคิดว่าเลือกแล้ว เพื่อจะได้ให้เหลืองบประมาณไปใช้จ่ายในสิ่งที่มี ดังนั้นถ้าเราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างในการปรับปรุงเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต นี่เป็นทางเลือกที่ 1 จะต้องให้ใช้ก่อน ส่วนการหาเม็ดเงินมาปรับปรุง เพื่อมาทำโครงการที่จำเป็นเหมือนกันในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เราจะให้เป็นทางเลือกที่ 2 แต่เป็นการจัดเม็ดเงินอย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือสิ่งที่ตอบคำถามว่า ทำไมถึงจำเป็นต้องทำ ทำไมไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างก่อน ทำไมถึงทำล่าช้า ทำไมถึงคิดไปทำไป” รมว.คลัง กล่าว
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวชี้แจงถึงการปรับปรุงแหล่งเงินที่ใช้สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งล่าสุด รัฐบาลจะไม่ใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า เนื่องจากมีข้อเสนอจากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถบริหารจัดการเม็ดเงินได้ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจาก ธ.ก.ส. และยืนยันว่าไม่ใช่เป็นเพราะกลไกการใช้เงินจาก ธ.ก.ส. ตามมาตรา 28 จะมีปัญหาแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องกรอบเวลาโครงการนั้น เป็นการปรับเปลี่ยนในส่วนของรายละเอียด แต่ในกรอบใหญ่ก็ยังคงยืนยันว่า ประชาชนจะได้รับเงิน 1 หมื่นบาทในช่วงปลายปีนี้อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นไปตามกรอบเดิมที่รัฐบาลกำหนดไว้ตั้งแต่แรก โดยย้ำว่ามีเม็ดเงินเพียงพอที่จะนำมาใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ขณะเดียวกัน ข้อกังวลของฝ่ายค้านที่เกรงว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสุ่มเสี่ยงจะขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง นั้น นายจุลพันธ์ ย้ำว่า ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง และกระบวนการงบประมาณทั้งสิ้น กระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ที่ดำเนินการมานี้ ได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ และเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย
พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลต้องการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ และขอทำความเข้าใจอีกครั้งว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่นโยบายในการสงเคราะห์ประชาชน หรือกลุ่มเปราะบาง จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากในระดับ 50 ล้านคน เพื่อต้องการให้เกิดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง และเห็นว่าที่ผ่านมา ไม่มีนโยบายหรือโครงการของรัฐบาลใดที่จะมีตัวคูณทางเศรษฐกิจมากเท่าโครงการนี้ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจเติบโต ขนาดจีดีพีจะใหญ่ขึ้น รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และเงินจะหมุนกลับมาสำหรับช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนต่อไป
“เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระดับที่ดีนัก ประเทศไทยมีการเติบโตต่ำสุดในอาเซียน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนสามารถลืมตา อ้าปากได้ และกลไกนี้ไม่ใช่กลไกสำหรับการสงเคราะห์ประชาชน แต่รัฐบาลจะใช้ประชาชนเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้ถึงมือพี่น้องประชาชน แล้วประชาชนเป็นคนใช้จ่าย…ไม่เคยมีนโยบายรัฐบาลใด ๆ ในอดีต จะมีตัวคูณสูงเท่าโครงการนี้ เพื่อให้เม็ดเงินเข้าไปมีผลในการหมุนเวียนเศรษฐกิจได้มากสุดเท่าที่จะทำได้” นายจุลพันธ์ กล่าว
สำหรับข้อห่วงใยว่าจะมีการทุจริตของภาครัฐนั้น รมช.คลัง กล่าวว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนี้ จะเป็นการจ่ายเงินตรงให้กับประชาชน จากการผูกบัตรประชาชน จึงมองไม่เห็นช่องทางที่รัฐจะทุจริต ส่วนร้านค้าใดที่เคยเข้าร่วมโครงการกับรัฐบาลก่อนหน้านี้แล้วมีปัญหาทุจริต ก็จะถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้
ส่วนที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตการให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ เพราะหวังผลการเลือกตั้งในครั้งหน้านั้น นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้คิดเช่นนั้น แต่การที่รัฐบาลให้สิทธิประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะมองว่าช่วงอายุดังกล่าว เมื่อได้รับเงินไปแล้วจะมีศักยภาพในการนำเงินไปจับจ่าย เพื่อเป็นกลไกช่วยหมุนเศรษฐกิจให้เติบโตได้
“ทำไมต้อง อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป เพราะเราคิดมาแล้วว่าอายุนี้ ได้รับเงินไปแล้วมีศักยภาพในการนำเงินไปใช้จ่าย เป็นกลไกหมุนเศรษฐกิจได้ หากเด็กกว่านี้ จะมีข้อจำกัดในการใช้สอยกับเงินจำนวนมาก เราไม่ได้มุ่งหวังผลการเลือกตั้งในอนาคตตามที่ฝ่ายค้านกังวล” นายจุลพันธ์ ระบุ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจจะยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในประเด็นต่าง ๆ ระหว่างฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ซึ่งความเห็นที่ต่างกันนี้เปรียบเหมือนเป็นเหรียญ 2 ด้าน ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะมีฝ่ายใดผิด หรือมีฝ่ายใดถูก แต่เป็นเพียงมุมมองที่ต่างกัน ซึ่งรัฐบาลจะพยายามรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน
สำหรับประเด็นที่มองว่ายังมีความเห็นไม่ตรงกันนั้น ได้แก่
ด้านแรก หากเปรียบเศรษฐกิจของประเทศไทย เหมือนเป็นบ้านที่หลังคามีรอยรั่ว หากฝนตกลงมา จะทำให้มีน้ำไหลลงเข้าบ้าน ซึ่งวิธีคิดของฝ่ายค้าน อาจเห็นว่า ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้น้ำไหลเข้าบ้าน แล้วค่อยวักน้ำทิ้ง แต่รัฐบาลมองว่า ในเมื่อบ้านหลังคารั่ว ก็ต้องอุดรอยรั่วนั้นก่อน ด้วยการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ยอมกู้เงินเพื่ออุดรอยรั่ว เพื่อกันไม่ให้น้ำเข้าบ้านที่อาจจะเกิดปัญหาตามมา จากนั้น จึงค่อยหาวิธีการอื่นในการหารายได้เข้าประเทศแทน
ด้านสอง การกู้หนี้เพื่ออุดรอยรั่ว ในภาวะการคลังปัจจุบัน ฝ่ายค้านอาจมองว่าการกู้เงินเต็มเพดานแล้ว ไม่เหลือพื้นที่การคลังในการทำนโยบายอื่น ๆ เพื่อดูแลประชาชน แต่ในความจริง ระดับหนี้สาธารณะของไทยที่ 64% ของจีดีพีนั้น จะเห็นว่าประเทศไทยให้คำนิยามของคำว่า “หนี้สาธารณะ” เข้มข้นกว่าประเทศอื่น ซึ่งหากไทยปรับนิยามหนี้สาธารณะให้เหมือนกับต่างประเทศ จะพบว่ายอดหนี้สาธารณะจริงๆ จะอยู่ที่ระดับ 54.3% เท่านั้น ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวลแต่อย่างใด
ด้านสาม การใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของจีดีพี แต่ได้ผลตอบแทนกลับมาไม่คุ้มค่า ซึ่งการที่ฝ่ายค้านมองว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจมีเพียง 3.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 1% ของจีดีพีนั้น หลักคิดนี้เป็นความผิดพลาดทางวิชาการ เพราะเราไม่สามารถนำตัวเลข 5 แสนล้านบาท ที่เป็น Nominal term ไปเทียบกับ 3.5 แสนล้านบาท ที่เป็น Real term แล้วมาบอกว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าได้ แต่ความคุ้มค่าหรือไม่นั้น ต้องไม่มองเพียงแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ต้องมองสิ่งที่จะได้รับตามมานั่นคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ ระบบการชำระเงิน การเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ข้อมูลของประชาชนที่จะเข้าสู่ระบบ เพื่อทำให้มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐในอนาคตทำได้ตรงจุดมากขึ้น เหล่านี้สร้างประโยชน์มหาศาล ซึ่งควรต้องนำไปรวมเป็นความคุ้มค่าของโครงการด้วย
ด้านที่สี่ ความกังวลว่าโครงการจะเอื้อนายทุนหรือผู้ประกอบการรายใหญ่ ในขณะที่รัฐบาล มีเงื่อนไขการจำกัดรัศมีการใช้จ่ายของประชาชนให้อยู่ภายในอำเภอ เพื่อต้องการให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชนอย่างแท้จริง ไม่กระจายเข้ามาสู่เมืองใหญ่ รวมทั้งพิจารณาไม่ให้สินค้าประเภทสมาร์ทโฟน หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าร่วมโครงการ เพราะสินค้าเหล่านี้เป็น import content จึงไม่ต้องการให้เม็ดเงินหมุนเวียนออกนอกประเทศ ซึ่งเงื่อนไขทุกอย่างที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้น ก็เพื่อทำให้เม็ดเงินลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง
ด้านที่ห้า การที่บอกว่ารัฐบาลไม่มีมาตรการอื่นกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว รอแต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ต้องชี้แจงว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใส่เม็ดเงินลงสู่ระบบนั้น สามารถทำได้ทั้งการอัดเม็ดเงินจริง และการอัดเม็ดเงินผ่านสินเชื่อ ซึ่งมีผลทางเศรษฐกิจคล้ายกัน จึงเป็นที่มาที่กระทรวงการคลัง ทำโครงการสินเชื่อในระหว่างที่ยังรอการเกิดขึ้นของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เช่น การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 1 แสนล้านบาทโดยธนาคารออมสิน ตลอดจนการทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ การปรับลดวงเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เหล่านี้ ก็คือการใส่เม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจเช่นกัน
“ไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด แต่เป็นมุมมองที่ยังไม่ตรงกัน รัฐบาลพร้อมรับฟังมุมมองต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีที่สุด” นายเผ่าภูมิ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 67)
Tags: Digital Wallet, ดิจิทัลวอลเล็ต, พิชัย ชุณหวชิร, เงินดิจิทัล, เศรษฐกิจไทย