อีกไม่ถึง 4 เดือน ชาวอเมริกันจะได้เข้าคูหาเลือกผู้นำประเทศคนใหม่ ขณะที่บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งก็ดุเดือดดราม่าขึ้นทุกเวลา โดยก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่พรรคเดโมแครต เมื่อเกิดเสียงเรียกร้องและแรงกดดันให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถอนตัวจากการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในนามตัวแทนพรรคฯ หลังทำผลงานได้ไม่ดีนักในศึกดีเบตนัดแรกกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนสายบู๊จากพรรครีพับลิกัน
ทว่าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด หลังนายทรัมป์ถูกคนร้ายลอบยิงในระหว่างการปราศรัยหาเสียงในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย
เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ แต่ตัวนายทรัมป์นั้นรอดมาได้ โดยถูกกระสุนปืนเข้าที่ส่วนบนของหูขวา และยังคงใจสู้ด้วยการลุกขึ้นมาชูกำปั้นหน้าธงสหรัฐจนกลายเป็นภาพที่น่าจะอยู่คู่กับแวดวงการเมืองโลกสมัยใหม่ไปอีกนาน
เหตุความรุนแรงจากอาวุธปืนเกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติในสหรัฐ แต่ความรุนแรงทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยในอดีต มีปธน.สหรัฐถึง 4 คนที่ถูกลอบสังหาร และอีกหลายคนรอดพ้นจากการลอบสังหาร ขณะที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลายคนก็ถูกยิง บางรายเสียชีวิต
ย้อนรอยเหตุการณ์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 ก.ค.) นายทรัมป์ได้ถูกคนร้ายลอบยิงในระหว่างการปราศรัยหาเสียงในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย โดยนายทรัมป์ถูกยิงที่หูด้านขวาและทำให้เขาได้รับบาดเจ็บ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ที่มาฟังการปราศรัยเสียชีวิต 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 ราย ส่วนนายโทมัส แมทธิว ครูกส์ อายุ 20 ปี ซึ่งเป็นมือปืนได้ถูกหน่วยอารักขาประธานาธิบดีสหรัฐ (Secret Service) ยิงเสียชีวิตหลังก่อเหตุทันที
รายงานระบุว่า ในช่วงที่เกิดเหตุนั้น มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ก่อนที่นายทรัมป์จะใช้มือจับที่ใบหูด้านขวา และรีบก้มตัวลงหลังโพเดียม ท่ามกลางความตกใจของผู้ที่มาฟังคำปราศรัย จากนั้นหน่วยอารักขาหลายคนได้รีบเข้าไปล้อมตัวนายทรัมป์และนำทรัมป์ไปขึ้นรถยนต์ นอกจากนี้ รายงานยังระบุด้วยว่า มือปืนที่ลอบยิงนายทรัมป์นั้นซุ่มอยู่บนดาดฟ้าของอาคารหลังหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่นายทรัมป์ปราศรัยประมาณ 120-150 เมตร
สำหรับชายผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตนั้นมีชื่อว่าคอรีย์ คอมเพราทัวร์ เป็นอาสาสมัครนักดับเพลิงอายุ 50 ปีที่ใช้ร่างกายตัวเองบังครอบครัวเมื่อเสียงปืนดังขึ้น โดยนายคอมเพราทัวร์เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยดับเพลิงอาสาสมัครของเขตบัฟฟาโล นายคอมเพราทัวร์มีภรรยาและลูกสาวสองคน และเป็นผู้สนับสนุนตัวยงของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์
เสียงประณามจากทั่วโลก
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บรรดาผู้นำโลกได้ออกมาประณามความพยายามในการลอบสังหารนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวว่า เขารู้สึกไม่สบายจากเหตุลอบยิงดังกล่าว และได้แสดงความเห็นใจต่อนายทรัมป์และขอเป็นกำลังใจให้ชาวอเมริกัน
ด้านผู้นำจากประเทศกลุ่ม G20 ในแถบยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ได้แสดงความห่วงใยและแสดงความปรารถนาดีต่อนายทรัมป์ ขณะที่นายเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ กล่าวว่า เขาตกใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว และเสริมว่า “สังคมของเราไม่มีจุดยืนให้กับความรุนแรงทางการเมืองไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ ทั้งสิ้น”
นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวในเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ว่า ความพยายามลอบสังหารครั้งนี้ถือเป็น “โศกนาฏกรรมสำหรับระบอบประชาธิปไตยของเรา” และฝรั่งเศสก็ไม่พึงพอใจเช่นเดียวกับชาวอเมริกันต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
ในเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่า นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อนายทรัมป์ ส่วนนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการยืนหยัดต่อต้านความรุนแรงที่ท้าทายประชาธิปไตย
ด้านนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ประณามเหตุการณ์นี้อย่างมาก และได้เน้นว่า “เราไม่มีจุดยืนให้กับความรุนแรงในการเมืองและประชาธิปไตย”
นายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวในทิศทางเดียวกับผู้นำคนอื่น ๆ และได้เสริมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการปราศรัยในรัฐเพนซิลเวเนียนั้น น่ากังวลและน่าตกใจมาก
ฝั่งรัสเซียก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน โดยนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียประณามการแสดงความรุนแรงมาโดยตลอด แต่ก็ได้กล่าวโทษรัฐบาลสหรัฐที่สร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้
หน่วยอารักขาโดนสอบหนัก ถูกมองว่าหละหลวม
ความพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ในงานปราศรัยครั้งนี้ ได้สร้างความกังขาอย่างหนักเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัย เพราะหากนายทรัมป์ไม่ได้เอียงศีรษะ มือปืนน่าจะยิงเข้าเป้าจนทำให้นายทรัมป์เสียชีวิตไปแล้ว
ประเด็นสำคัญที่ถูกตั้งคำถามคือ ทำไมมือปืนถึงขึ้นไปบนดาดฟ้าอาคารใกล้เคียงได้ ทำไมเขาถึงมองเห็นทรัมป์ได้ชัดเจน และทำไมการแจ้งเตือนเรื่องมือปืนไม่ถูกส่งต่อให้ทีมรักษาความปลอดภัยอย่างทันท่วงที โดยผู้ที่เห็นเหตุการณ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ก่อนเกิดเหตุเขาและบุคคลอื่นเห็นชายคนหนึ่งคลานขึ้นไปบนหลังคาพร้อมปืนไรเฟิล และได้พยายามเตือนเจ้าหน้าที่แล้ว ทั้งยังมีข้อถกเถียงเรื่องการแบ่งหน้าที่ระหว่างตำรวจท้องถิ่นกับหน่วยรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดี รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เพียงพอสำหรับงานสำคัญระดับนี้
นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ยังได้รับข่าวกรองว่าอิหร่านมีแผนลอบสังหารทรัมป์ก่อนที่นายทรัมป์จะถูกลอบยิงโดยนายครูกส์ด้วย ยิ่งทำให้เกิดคำถามมากขึ้นว่า เหตุใดหน่วยอารักขาจึงหละหลวม ปล่อยให้นายครูกส์ลอบยิงทรัมป์จากดาดฟ้าของอาคารบริเวณใกล้เคียงไปได้ ทั้ง ๆ ที่มีข้อมูลอยู่แล้วว่าอิหร่านประสงค์ร้ายต่อทรัมป์ เพื่อแก้แค้นการสังหารนายพลกัสซิม โซเลมานี เมื่อสมัยที่นายทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แม้ท้ายที่สุดแล้วยังไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างนายครูกส์กับแผนลอบสังหารของอิหร่านแต่อย่างใด
ขณะที่คนทั้งประเทศต้องการคำอธิบาย ทางหน่วยอารักขาก็ออกมาแถลงว่า ทางเจ้าหน้าที่กำลังเร่งสืบสวนหาสาเหตุและหาทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยคิมเบอร์ลี ชีเทิล (Kimberly Cheatle) หัวหน้าหน่วย Secret Service ก็โดนเรียกตัวให้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 22 กรกฎาคมที่จะถึงนี้
ทีมไบเดนโชว์สปิริต เปลี่ยนกลยุทธ์หาเสียง เลิกใช้คำกล่าวโจมตีทรัมป์
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ ได้แถลงจากทำเนียบขาวหลังเกิดเหตุ โดยกล่าวว่า เหตุการณ์ลอบยิงที่เกิดขึ้นกับทรัมป์ “เป็นสัญญาณเตือนให้เราทุกคนถอยกันคนละก้าว” และกล่าวว่าโชคดีที่ทรัมป์ไม่ได้รับบาดเจ็บสาหัส
ไบเดนปรากฏตัวครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขายังมีอำนาจในฐานะผู้นำประเทศอยู่ ซึ่งเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญ ในขณะที่ไบเดนกำลังเผชิญหน้ากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในพรรคเดโมแครตบางส่วน ที่ต้องการให้ผู้นำวัย 81 ปีรายนี้ถอนตัวจากการแข่งขัน เนื่องจากกังวลว่าสติปัญญาของไบเดนอาจมีความเฉียบแหลมไม่เพียงพอสำหรับการดำรงตำแหน่งต่ออีก 4 ปี
ขณะนี้ไบเดนและทีมงานกำลังพยายามวางแผนทิศทางการหาเสียงใหม่หลังจากเกิดเหตุการณ์ทรัมป์ถูกยิง จากเดิมที่เคยเน้นว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยของอเมริกาหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ย.นี้ โดยภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเหตุการณ์ลอบยิง ทีมหาเสียงของไบเดนก็ได้โชว์สปิริต รีบถอนโฆษณาทางทีวีและระงับการสื่อสารทางการเมืองอื่น ๆ ที่เป็นการกล่าวโจมตีทรัมป์ แล้วหันไปมุ่งเน้นเรื่องอนาคตแทน
ทรัมป์มาวินแน่ นักลงทุนไม่เผื่อใจ
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เหตุการณ์ลอบสังหารนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จะส่งผลให้นายทรัมป์คว้าชัยชนะเหนือประธานาธิบดีโจ ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.นี้
ต่อให้ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น นายทรัมป์ก็ถูกมองว่าคะแนนนำเหนือนายไบเดนอยู่แล้ว ตั้งแต่ที่นายไบเดนดีเบตได้ไม่ค่อยดีนัก ซ้ำยังพูดผิดหลายครั้งในการประชุมสุดยอดนาโต (NATO) โดยเรียกปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ว่าเป็นปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ทั้งยังเรียกนางคามาลา แฮร์ริส รองปธน.ของตัวเอง ว่าเป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ ความผิดพลาดดังกล่าวของไบเดนถูกนำไปล้อเลียนบนโลกออนไลน์ทันที และยิ่งตอกย้ำความกังวลของประชาชนในเรื่องของอายุและความเฉียบคมทางสติปัญญาของผู้นำสหรัฐรายนี้ แม้ไบเดนจะตอบคำถามเกี่ยวกับนโยบายจีนและสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสได้ฉะฉาน แต่ผลงานการพูดโดยรวมของเขาในครั้งนี้ยากที่จะเปลี่ยนมุมมองของคนในแวดวงการเมืองที่มีต่อเขาไปได้
ในฝั่งนักลงทุนก็หวังแบบไม่เผื่อใจกันแล้วว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้แน่ ๆ โดยหุ้นกลุ่มอาวุธปืน หุ้นคริปโทเคอร์เรนซี และหุ้นบริษัทอื่น ๆ ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี พากันปรับตัวขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารดังกล่าว
ทรัมป์สู้ไม่ถอย กำลังใจมาเพียบ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทรัมป์ที่เพิ่งรอดชีวิตมาอย่างหวุดหวิด มีไฟมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ แถมยังได้กำลังใจมากขึ้นอีกด้วย โดยนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชื่อดัง ประกาศสนับสนุนทรัมป์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ทรัมป์ถูกยิงเฉี่ยวหูขณะร่วมการปราศรัยหาเสียง ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ตอกย้ำว่านายมัสก์มีจุดยืนทางการเมืองไปทางฝ่ายขวา และทำให้ทรัมป์มีคนดังมาเป็นผู้สนับสนุนมากขึ้น
นอกจากนี้ หลังจากเกิดเหตุลอบสังหารเพียง 2 วัน ทรัมป์ก็ได้ปรากฏตัวในการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันเมื่อวันที่ 15 ก.ค. และประกาศเลือกนายเจ.ดี. แวนซ์ วุฒิสมาชิกจากรัฐโอไฮโอ เป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ขณะเดียวกันพรรครีพับลิกันได้ประกาศแต่งตั้งนายทรัมป์ให้เป็นตัวแทนของพรรคเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการในการประชุมนี้ด้วย
บรรดานักลงทุนรายใหญ่ในซิลิคอนวัลเลย์ต่างยกย่องนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตัดสินใจเลือกนายเจ.ดี. แวนซ์ ร่วมเป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้รับความสนใจมากขึ้นจากรัฐบาล หากนายทรัมป์คว้าชัยในศึกเลือกตั้ง
ท่าทีดังกล่าวอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในซิลิคอนวัลเลย์เป็นศูนย์กลางแนวคิดเสรีนิยมในแคลิฟอร์เนียมาอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นฐานที่มั่นของพรรคเดโมแครต แต่เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันภายในแวดวงเทคโนโลยีเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยนักลงทุนสายเทคโนโลยีหลายรายต่างให้การสนับสนุนและบริจาคเงินให้แก่นายทรัมป์เพื่อแข่งขันกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในศึกเลือกตั้งสหรัฐปีนี้
จับตาความเคลื่อนไหวฝั่งเดโมแครต ในยามที่ต้องระมัดระวังคำพูดมากกว่าเดิม
ในสัปดาห์นี้ พรรครีพับลิกันกำลังจัดประชุมใหญ่ที่เมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน โดยรวมตัวรวมใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสนับสนุนทรัมป์ เมื่อภาพของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐผู้ไม่ยอมแพ้รายนี้ชูกำปั้นขึ้นฟ้า กับบาดแผลเลือดออกข้าง ๆ ศีรษะ ได้กลายเป็นภาพที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกันยุคใหม่
เหตุการณ์ลอบสังหารครั้งนี้ได้พลิกโฉมบรรยากาศทางการเมืองไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อทีมหาเสียงของประธานาธิบดีไบเดนในการรับมือกับการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน ทางพรรคเดโมแครตกำลังถกเถียงกันว่าควรปรับกลยุทธ์การหาเสียงอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าควรวิจารณ์หรือโจมตีทรัมป์ในช่วงนี้ดีหรือไม่ บางคนถึงกับตั้งคำถามว่าการวิพากษ์วิจารณ์คู่แข่งในช่วงนี้เหมาะสมหรือเปล่า ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียดและอ่อนไหวเช่นนี้
ความพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ส่งผลให้แวดวงการเมืองสหรัฐหยุดชะงักลงชั่วคราว ทั้งสองพรรคต่างออกมาประณามเหตุการณ์ดังกล่าว ในขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนได้ระงับการรณรงค์หาเสียงทันที นอกจากนี้ เสียงเรียกร้องจากภายในพรรคเดโมแครตที่ต้องการให้ไบเดนถอนตัวจากการลงสมัครชิงตำแหน่งสมัยที่สองก็เงียบหายไป บางรายหวังว่าเหตุการณ์นี้อาจช่วยให้พรรคเดโมแครตมีความสามัคคีมากขึ้นเมื่อต้องรับมือกับคู่แข่งที่นับวันยิ่งฟอร์มดีขึ้นเรื่อย ๆ
ทีมหาเสียงของไบเดนกำลังพยายามหาทางรับมืออย่างเหมาะสม โดยมุ่งสร้างสมดุลระหว่างการเน้นย้ำความสามัคคีของชาติกับการเรียกร้องให้พรรคเดโมแครตยืนหยัดเคียงข้างไบเดน และดูเหมือนว่าทีมหาเสียงของไบเดนได้ปรับกลยุทธ์ โดยเลิกโจมตีทรัมป์ในประเด็นส่วนตัว
ยังไม่ชัดเจนว่ากลยุทธ์นี้ของฝั่งไบเดนจะได้ผลในระยะยาวหรือไม่ ในขณะที่เหล่าสมาชิกพรรคเดโมแครตยังคงถกเถียงกันอย่างเงียบ ๆ ถึงความเป็นไปได้ในการหาคนมาชิงตำแหน่งผู้นำประเทศแทนไบเดน อีกทั้งผลโพลล่าสุดยังชี้ให้เห็นว่าโอกาสในการคว้าชัยชนะของไบเดนเองนับวันยิ่งมีแต่จะริบหรี่ลง
ทั้งนี้ เหตุการณ์ลอบสังหารนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พลิกโฉมการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างฉับพลัน ในขณะที่ทรัมป์ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้น ทีมของประธานาธิบดีไบเดนก็ต้องปรับกลยุทธ์การหาเสียงใหม่ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ขณะที่ประชาชนชาวอเมริกันและประชาคมโลกจับตามองด้วยความสนใจว่าการเมืองสหรัฐจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 67)
Tags: In Focus, SCOOP, ประธานาธิบดีสหรัฐ, พรรครีพับลิกัน, พรรคเดโมแครต, ลอบสังหาร, สหรัฐ, เลือกตั้งสหรัฐ, โจ ไบเดน, โดนัลด์ ทรัมป์