การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทน ตอน N1
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าฯ กทพ. กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ 3 เป็นการนำเสนอข้อสรุปรูปแบบก่อสร้าง แนวทางการแก้ปัญหาและลดผลกระทบ หลังจากนี้ จะนำเสนอกระทรวงคมนาคม และดำเนินการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาต่อไปคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการได้ในปี 2568 ก่อสร้างปี 2569-2574 เปิดบริการปี 2574
สำหรับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทน ตอน N1 มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดระหว่างทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน และสิ้นสุดที่ถนนประเสริฐมนูกิจ โดยเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 บริเวณแยกสุคนธสวัสดิ์ ระยะทางรวม 10.55 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 49,220 ล้านบาท เป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมกทม.ด้านตะวันตก และตะวันออก ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ประมาณ 30 นาที
โดยกทพ.ขับเคลื่อนมา 15 ปี แล้ว แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้โครงการเดินหน้าไม่ได้ ล่าสุดกทพ.ได้ศึกษาแนวทางที่เหมาะสม มีผลกระทบน้อยที่สุด มีการนำข้อคิดเห็นของประชาชน และข้อจำกัดมาพิจารณาปรับแก้ มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ได้นำเสนอผลการคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสม
“ตอนนี้แนวเส้นทางชัดเจนแล้ว เลือกรูปแบบอุโมงค์ เพราะผลกระทบน้อยกว่าทางยกระดับ ที่แม้มีค่าก่อสร้างต่ำกว่า คือ ประมาณ 17,826 ล้านบาท มีความเสี่ยงน้อยกว่า แต่ทางยกระดับมีการเวนคืนมากกว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบมากไปด้วย ส่วนรูปแบบอุโมงค์นั้น มีค่าก่อสร้างประมาณ 44,532 ล้านบาท ซึ่งแม้จะสูง แต่จะเวนคืนเฉพาะทางขึ้นลง ซึ่งลดผลกระทบการเวนคืนประชาชนลงได้มาก ส่วนที่ประชาชนบางส่วนแสดงความกังวล และห่วงใยต่อดำเนินโครงการ และอยากให้ กทพ. พิจารณา ยกเลิกโครงการ นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากอีกหลายหน่วยงาน และต้องเสนอให้กระทรวงคมนาคม และครม. เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ”
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า กทพ.ลงทุนเส้นทางนี้ไม่มีกำไร ตัวเลขผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ติดลบ แต่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สูงถึง 19.20%
ดังนั้นเมื่อโครงการมีความจำเป็น จึงสรุปที่จะผลักดันเดินหน้า โดย กทพ.ลงทุนเอง ซึ่งจะหารือกับรมว.คมนาคม เสนอขอรัฐอุดหนุนโครงการในส่วนของค่าก่อสร้างด้วย จากปกติรัฐอุดหนุนเฉพาะค่าเวนคืน ขณะที่คำนวณค่าผ่านทางไว้ที่ 70 บาทตลอดสาย แม้การศึกษาจะบอกว่า อัตราค่าผ่านทางที่ทำให้โครงการคุ้มทุนมีกำไรอยู่ที่ 200 บาท ก็ตาม
สำหรับโครงการส่วนทดแทน ตอน N1 เริ่มต้นบริเวณจุดตัดระหว่างทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าแนวถนนงามวงศ์วาน ลอดผ่านแยกพงษ์เพชร ผ่านถนนวิภาวดี แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกลาดปลาเค้า จากนั้นจะยกระดับข้ามแยกเสนานิคม รวมระยะทาง 10.55 กม. มูลค่าโครงการรวม 49,220 ล้านบาท โดยมีโครงสร้าง 3 แบบ ช่วงเริ่มลงดินและทางเข้า – ออก เส้นทาง เป็นอุโมงค์ 2 ชั้น แบบ Cut and Cover ขนาด ความกว้าง 15.9 เมตร ระยะทาง 1.75กม. ช่วงใต้ดินลึก เป็นอุโมงค์ 2 ชั้น รูปแบบ Tunnel Boring Machine ความลึก 46 เมตร ระยะทาง 6.31 กม. และเป็นโครงสร้างทางยกระดับอีก 2.49 กม.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 67)
Tags: กทพ., กระทรวงคมนาคม, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ทางด่วน, สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข