คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ค.67 ติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ม.ค.- เม.ย.67 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 พร้อมให้สำนักงาน กกพ.นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12 – 26 ก.ค.67 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
ในการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft อาจปรับเพิ่มขึ้นในระดับ 46.83-182.99 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวด ก.ย.-ธ.ค.67 เพิ่มขึ้นเป็น 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย
การเปิดรับฟังความเห็นประกอบด้วย 3 กรณี คือ
-
กรณีที่ 1: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วยส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน
-
กรณีที่ 2: กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวด ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 113.78 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากงวดปัจจุบัน
-
กรณีที่ 3: กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากงวดปัจจุบัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 67)
Tags: กกพ., ค่า Ft, ค่าไฟ, ค่าไฟฟ้า