โกลบอล เอเนอร์จี มอนิเตอร์ (Global Energy Monitor) หรือ GEM ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในสหรัฐ เปิดเผยในวันนี้ (11 ก.ค.) ว่า เกือบ 2 ใน 3 ของโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างทั่วโลกในปัจจุบันนั้น ตั้งอยู่ในจีน ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ได้เบียดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
รายงานระบุว่า ปัจจุบันจีนกำลังก่อสร้างโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 339 กิกะวัตต์ (GW) คิดเป็น 64% ของทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งมากกว่าโครงการขนาด 40 GW ของสหรัฐซึ่งอยู่ในอันดับ 2 ถึง 8 เท่า
ผู้เขียนรายงานจาก GEM ระบุว่า การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของจีนในปัจจุบันทำให้เป้าหมายระดับโลกในการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่าภายในสิ้นปี 2573 นั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม แม้จะไม่นับรวมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มเติมก็ตาม และได้เรียกร้องให้จีนยกระดับเป้าหมายในคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศต่อสหประชาชาติ (UN) ในปีหน้า
ไคลเมต เอเนอร์จี ไฟแนนซ์ (Climate Energy Finance) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในเมืองซิดนีย์ ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จีนกำลังจะบรรลุเป้าหมายปี 2573 ในการติดตั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ 1,200 GW ภายในเดือนนี้ เท่ากับว่าเร็วกว่ากำหนดเดิมถึง 6 ปี
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงจากลอรี มิลลีวีร์ตา นักวิจัยอาวุโสของสถาบันนโยบายสังคมแห่งเอเชีย (ASPI) โดยระบุว่า เมื่อเดือนพ.ค. จีนผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 53% ซึ่งถือว่าต่ำเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ 44% มาจากแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ ชี้ให้เห็นว่าหากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป การปล่อยก๊าซคาร์บอนของจีนอาจถึงจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อปีที่แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 67)
Tags: จีน, โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์