นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การความมั่นคงทางอาหารของโลก พบว่าประเทศที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารรายสำคัญของไทย ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ล้วนมีมาตรการความมั่นคงทางอาหารในทิศทางเดียวกัน คือการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ลดการนำเข้า ยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร และสนับสนุนการจ้างงานในประเทศให้มากขึ้น ได้แก่
– จีน ออกกฎหมายความมั่นคงด้านอาหาร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 กำหนดให้กระบวนการและขั้นตอนการผลิตอาหารต้องดำเนินการและพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องอุปทานธัญพืชภายในประเทศ ปกป้องความมั่นคงทางอาหาร และปกป้องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง และได้กำหนดแนวทางนโยบายการเกษตรและการพัฒนาชนบทประจำปี (Rural Revitalization) ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดกับความมั่นคงทางอาหารเช่นกัน โดยมุ่งพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตธัญพืชในประเทศ และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
– สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงด้านอาหารที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตที่ดีของประชาชน ลดความยากจน ลดความหิวโหย และภาวะขาดแคลนอาหารในทุกสถานการณ์ อาทิ การแพร่ระบาดของโรค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งต่าง ๆ และความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น โดยเร่งพัฒนาพื้นที่และลดความยากจน มุ่งเน้นสร้างความเท่าเทียมของประชากร สร้างงานโดยใช้ภาคเกษตรผลักดันเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนในชาติ ควบคู่กับเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และสร้างภาคเกษตรที่ยั่งยืน
– ญี่ปุ่น มีนโยบายเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในประเทศ ลดพึ่งพาการนำเข้า และผลักดันให้มีการผลิตข้าวสาลี ถั่วเหลือง ธัญพืชอาหารสัตว์ หญ้าแห้ง และปุ๋ยภายในประเทศเพิ่มขึ้น มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง มีเป้าหมายเพิ่มการเพาะปลูกสินค้าเกษตร พืชเลี้ยงสัตว์ ปรับฐานราคาสินค้าเกษตรให้เหมาะสม และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการของเด็ก และการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
– มาเลเซีย มีนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนและยืดหยุ่นในภาคเกษตรกรรม ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ เพิ่มกำลังการผลิตอาหาร และให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในราคาจับต้องได้ ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรเพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและผลักดันการส่งออก ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีมาตรการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์การนำเข้าสินค้าธัญพืช (HS Code 10) ของโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงทางอาหาร พบว่า ในปี 66 โลกนำเข้าธัญพืช 176,156.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง 13.4% จากปีก่อนหน้า)
สำหรับสินค้าธัญพืชที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1. ข้าวสาลีและเมสลิน มีสัดส่วน 37.1% ของมูลค่าการนำเข้าธัญพืชของโลก 2. ข้าวโพด มีสัดส่วน 34.7% 3. ข้าว มีสัดส่วน 18.8% 4. ข้าวบาร์เลย์ มีสัดส่วน 6.5% และ 5. ข้าวฟ่าง มีสัดส่วน 1.3% ตามลำดับ โดยประเทศผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ของไทยมีการนำเข้าสินค้าธัญพืช ดังนี้
1. จีน มีการนำเข้าธัญพืช 20,544.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า) โดยจีนมีมูลค่าการนำเข้าธัญพืชสูงสุดอันดับหนึ่งของโลก มีสัดส่วน 11.7% ของการนำเข้าธัญพืชของโลก (ธัญพืชที่จีนนำเข้ามาก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลีและเมสลิน และข้าวบาร์เลย์) โดยจีนนำเข้าจากบราซิลมากที่สุด รองลงมา คือ สหรัฐฯ มีสัดส่วน 19.7% และ 18.5% ตามลำดับ และนำเข้าจากไทยเพียง 298.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของมูลค่าการนำเข้าธัญพืชของจีน
2. สหรัฐอเมริกา มีการนำเข้าธัญพืช 3,588.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้า) โดยสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำเข้าธัญพืชอันดับ 14 ของโลก มีสัดส่วน 2% ของการนำเข้าธัญพืชของโลก (ธัญพืชที่สหรัฐฯ นำเข้ามาก ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลีและเมสลิน และข้าวโอ๊ต) โดยสหรัฐฯ นำเข้าจากแคนาดามากที่สุด มีสัดส่วน 47.9% ของมูลค่าการนำเข้าธัญพืชของสหรัฐฯ และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับสอง มีมูลค่า 733.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 20.4% ของมูลค่าการนำเข้าธัญพืชของสหรัฐฯ
3. ญี่ปุ่น มีการนำเข้าธัญพืช 8,149.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง 16% จากปีก่อนหน้า) โดยญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าธัญพืชอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และเม็กซิโก มีสัดส่วน 4.6% ของการนำเข้าธัญพืชของโลก (ธัญพืชที่ญี่ปุ่นนำเข้ามาก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลีและเมสลิน และข้าว) โดยญี่ปุ่นนำเข้าจากสหรัฐฯ มากที่สุด มีสัดส่วน 43.2% ของมูลค่าการนำเข้าธัญพืชของญี่ปุ่น และนำเข้าจากไทย 199.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (นำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 6) คิดเป็นสัดส่วน 2.4% ของมูลค่าการนำเข้าธัญพืชของญี่ปุ่น
4. มาเลเซีย มีการนำเข้าธัญพืช 2,529.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อนหน้า) โดยมาเลเซียเป็นผู้นำเข้าธัญพืชอันดับ 20 ของโลก มีสัดส่วน 1.4% ของการนำเข้าธัญพืชของโลก (ธัญพืชที่มาเลเซียนำเข้ามาก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าว และข้าวสาลีและเมสลิน) โดยมาเลเซียนำเข้าธัญพืชจากอาร์เจนตินามากที่สุด มีสัดส่วน 29.4% ของมูลค่าการนำเข้าธัญพืชของมาเลเซีย และนำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 212.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (นำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 6) คิดเป็นสัดส่วน 8.4% ของมูลค่าการนำเข้าธัญพืชของมาเลเซีย
เมื่อพิจารณาการส่งออกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าธัญพืชส่งออกที่สำคัญของไทย ในปี 66 ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย มีมูลค่าการส่งออก 5,144.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 29.33% จากปีก่อนหน้า ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ อิรัก และจีน มีสัดส่วน 14.2% 12.3% 8.9% 8.2% และ 6% ของมูลค่าการส่งออกข้าวของไทย ตามลำดับ
โดยไทยส่งออกข้าวไป 5 ประเทศดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% หรือครึ่งหนึ่งของการส่งออกข้าวไทยไปตลาดโลก สำหรับในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 67 ไทยส่งออกข้าวเป็นมูลค่า 2,659.53 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปริมาณ 4.06 ล้านตัน) ขยายตัว 39.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
“ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยต่างให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร โดยเน้นการพึ่งพาตนเองมากขึ้น สนับสนุนเกษตรกรในประเทศ และลดการนำเข้า โดยธัญพืชเป็นสินค้าสำคัญสำหรับความมั่นคงทางอาหาร ปัจจุบันการส่งออกธัญพืชของไทยในภาพรวมยังเติบโตดี
อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้ไทยสามารถปรับกลยุทธ์ทั้งด้านการผลิตและการค้าให้สอดคล้องสถานการณ์ของโลก ตลอดจนนำแนวทางการปฏิบัติที่ดีของประเทศต่าง ๆ ในการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านความมั่นคงทางอาหารมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยกำหนดแผนพัฒนาระบบเกษตรและอาหารให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพของคนไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายพูนพงษ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 67)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ความมั่นคงทางอาหาร, พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์, สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า