นายเดวิด โรช ประธานบริษัท Quantum Strategy กล่าวว่า บรรดานักวิเคราะห์ตลาดคาดการณ์ว่า ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนีอาจพุ่งทะยานสูงถึง 120 จุด (basis point) เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสชุดใหม่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถปรับลดการขาดดุลในการคลังของประเทศให้เป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป (EU) ได้
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของฝรั่งเศสและเยอรมนีในวันนี้ (10 ก.ค.) อยู่ที่ประมาณ 70 จุด ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 12 ปีที่ 85 จุด ของเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. และเพิ่มขึ้นจาก 49 จุดก่อนที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จะประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่แบบสายฟ้าแลบ
ทั้งนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรจะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับราคา และแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาล ซึ่งบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนระยะยาวในเศรษฐกิจอีกด้วย ยิ่งอัตราดอกเบี้ยสูง ก็ยิ่งหมายถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่น้อยลง
“แม้ในความเป็นจริงยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น มุมมองของผมคือ มันจะต้องเกิดขึ้นแน่” นายโรชกล่าวผ่านรายการ “Squawk Box Europe” ของ CNBC เมื่อวานนี้ (9 ก.ค.)
“มันจะเกิดขึ้นตอนที่ทุกคนรู้ตัวว่า เมื่อการเมืองในฝรั่งเศสเป็นอัมพาต เศรษฐกิจในฝรั่งเศสก็ย่อมเป็นอัมพาต แล้วพอเศรษฐกิจเป็นอัมพาต มันก็เท่ากับว่าฝรั่งเศสกำลังเดินสวนทางกับข้อตกลงที่ให้ไว้กับยุโรป” นายโรชกล่าว
นายโรชกล่าวว่า ขณะนี้รัฐสภาฝรั่งเศสและก๊กทางการเมืองต่าง ๆ รวมถึงปธน.มาครง กำลังเผชิญหน้ากับการต่อสู้ทางการเมืองอันยาวนานซึ่งจะส่งผลให้ขาดภาวะผู้นำทางเศรษฐกิจ
“สุดท้ายยูโรจะโดนหางเลขไปด้วย พูดตรง ๆ เลยนะ ถ้าเทียบกันระหว่างอิตาลีกับฝรั่งเศส อิตาลีจะดูเป็นนางฟ้าไปเลย ถึงแม้จริง ๆ แล้วจะไม่ได้เป็นนางฟ้าก็เถอะ ส่วนฝรั่งเศสนี่แหละจะกลายเป็นปีศาจ” นายโรชกล่าวต่อ
นายโรชกล่าวว่า ขณะเดียวกัน ภาวะการเมืองติดหล่มนี้จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายขวาจัดอย่างพรรคเนชันแนล แรลลี (RN) ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไปเรื่อย ๆ และทำให้นางมารีน เลอ แปน ผู้นำพรรคฯ ได้จังหวะวางตัวเองเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปได้
“ถ้าฝรั่งเศสได้รัฐบาลประชานิยมที่เห็นแก่ได้และหลงตัวเอง ยุโรปก็ไปไหนไม่ได้หรอก” นายโรชกล่าวเสริม
“โครงการใหญ่ ๆ ที่ต้องใช้เงินทุนระดับชุมชนจะไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขยายตัวของ EU เรื่องโครงการสีเขียว หรือแม้แต่เรื่องการฟื้นฟูยูเครน มีประเด็นหลัก ๆ อยู่ 7 เรื่องได้ที่ผมมองว่าจะไม่มีวันคืบหน้าไปไหน ซึ่งเป็นหายนะสำหรับยุโรป” นายโรชกล่าวกับ CNBC
อย่างไรก็ดี นายฌ็อง-โกลด ทริเชต์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส มองโลกในแง่ดีมากกว่านายโรช โดยเชื่อว่า นักการเมืองในชุดปัจจุบันจะสามารถหาทางออกร่วมกันได้ผ่านการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งหมายความว่าจะไม่เกิดทางตันทางการเมือง และไม่เสี่ยงเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะภายในประเทศหรือในยุโรปจนถึงขั้นที่ต้องมีการแทรกแซงจากธนาคารกลางยุโรป
นายทริเชต์กล่าวว่า นโยบายของฝ่ายซ้ายอย่างแนวร่วมประชาชนใหม่ (NFP) นั้น “อันตรายมาก” ในมุมมองทางเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากก๊กนี้ไม่ได้รับเสียงข้างมาก ความเสี่ยงใด ๆ จากเรื่องนี้จึงเป็นเพียง “สถานการณ์สมมติ” ที่ “ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง”
“ถ้ายังเป็นสภาแขวนอยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ แน่นอนว่า อะไร ๆ มันก็ไปต่อไม่ได้ … ผมประเมินว่า สุดท้ายแล้วทุกฝ่ายก็น่าจะต้องยอมมาเจรจากัน หลังจากเห็นได้ชัดแล้วว่าไม่มีกลุ่มใดในปัจจุบันที่สามารถขึ้นมานำประเทศได้” นายทริเชต์กล่าวกับทาง CNBC
นายทริเชต์กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ที่ดีที่สุดคือ “ไอเดียผสม” อันประกอบด้วยการตัดสินใจจากกลุ่มพรรคฝ่ายขวา กลุ่มพรรคฝ่ายซ้าย และพรรคอื่น ๆ
“เราอยู่ในประเทศอย่างฝรั่งเศสโดยไม่มีรัฐบาลหรือมีรัฐบาลที่ไม่ทำอะไรเลยไม่ได้หรอก” นายทริเชต์กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ค. 67)
Tags: ฝรั่งเศส, เศรษฐกิจฝรั่งเศส