เงินบาทเปิด 36.61/62 ทรงตัวไร้ปัจจัยใหม่ รอตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐคืนนี้

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 36.61/62 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากช่วง ปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 36.61 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทยังไร้ปัจจัยใหม่ และเคลื่อนไหวในกรอบ เนื่องจากวานนี้ตลาดสหรัฐฯ หยุดทำการเนื่องในวันชาติ โดยวันนี้ตลาดรอ ติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มิ.ย. คืนนี้เป็นหลัก

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.55 – 36.70 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 161.02/06 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 161.28 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0814/0818 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0796 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 36.613 บาท/ดอลลาร์

– ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าแต่กำลังกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ คาดว่า เศรษฐกิจฟื้นกลับไป 3% ในปี 68 แต่ถ้าให้กลับไปเท่าในอดีต 4-5% ก็ต้องปรับเปลี่ยน อยากให้เติบโตมากกว่านี้ต้องปรับโครงสร้าง เน้น การลงทุน เกิดเทคโนโลยีใหม่ ไม่ใช่จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจจะเติบโตช่วงหนึ่งแต่จะกลับมาเท่าเดิม และ ธปท.ยังเป็น ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง รวมทั้งภาคการผลิตที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง และจากการแข่งขันจากต่างประเทศมาซ้ำ เป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

– รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารโลก (world bank) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 67 จาก 2.8% เหลือ 2.4% ว่าการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของ world bank ลงเป็นการปรับลงมาใกล้เคียงกับการที่หน่วยงาน เศรษฐกิจของไทยได้คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้

– ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยผลสำรวจ “ดัชนีความ เชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจไตรมาส 2/67 และคาดการณ์อนาคต” พบภาพรวมดัชนีเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 2/67 อยู่ที่ระดับ 52.06 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 1/67 ที่อยู่ในระดับ 52.36 เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความกังวลที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านต้นทุนการประกอบการและปริมาณสินค้าคงคลัง

– ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปี 67 ถือว่าเป็นปีที่ดีของการลงทุน ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกให้ ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องจากปี 66 เห็นได้จากที่ผลตอบแทนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างดัชนีหุ้นทั่วโลก (MSCI All Country World Index) ปรับ เพิ่มขึ้น +11.5% เป็นผลมาจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกที่ฟื้นตัวได้ดี จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ฟื้นตัวและเติบโตขึ้นในหลายกลุ่ม อุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเทคโนโลยี สินค้าอุปโภค-บริโภคและสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ท้าทายตลาดลงทุนที่นักลงทุนต้องจับตา อีกหลายประการ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่, ใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ, ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และสงครามการค้าและเทคโนโลยี

– เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังเอ็กซิตโพลบ่งชี้ว่า พรรคแรงงาน (Labour Party) จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งรัฐสภาอังกฤษอย่างถล่มทลาย

– กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นลดลง 1.8% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นยังคงส่งผลกระทบ ต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางของญี่ปุ่น

– นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 189,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 272,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.0% ในเดือนมิ.ย.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 67)

Tags: , ,