AOT มั่นใจรายได้ฟื้นกลับมาเท่าปี 62 ยืนยันขอคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรีบางส่วนกระทบไม่มาก

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจรายได้ปี 67 (ต.ค.66-ก.ย.67) จะกลับมาเติบโตได้ใกล้เคียงปี 62 ที่มีรายได้รวม 6.5 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท หลังจากในงวดครึ่งปีแรก (ต.ค.66-มี.ค.67) ทำรายได้รวม 3.4 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.03 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารในปีนี้คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 120 ล้านคน

ทั้งนี้ ช่วง 8 เดือนของงวดปี 67 (ต.ค.66-พ.ค.67) มีผู้โดยสารรวม 6 ท่าอากาศยาน เท่ากับ 81.05 ล้านคนฟื้นตัว 83.4% เมื่อเทียบกับช่วงปี 62 (ก่อนเกิดโควิด) และในปี 68 AOT คาดจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 140 ล้านคนเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด

“เรามั่นใจว่าปีนี้รายได้จะไม่น้อยกว่าปี 62…ปีนี้เป็นปีสำคัญที่อุตสาหกรรรมการบินฟื้นตัว ตัวเลขที่เราตั้งเป้าไว้ที่ 120 ล้านคน ในช่วง 3 Quarter แรก เราดูตัวเลขจริงแล้วประมาณ 80 ล้านคน เราค่อนข้างมั่นใจ ในช่วง Quarter ที่เหลือเราจะสามารถมีผู้โดยสารครบ 120 ล้านคนได้ นอกจากนั้น ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ที่ตั้งเป้าไว้ 40 ล้านคน ตัวเลขที่ผ่านมาชี้ว่าเราสามารถจะไปถึงตัวเลขนั้นได้ในปีนี้แน่นอน”

AOT ประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานในสังกัด 6 แห่งในอีก 5 ปี (ปี 72) คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 170 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน และในอีก 10 ปี (ปี 77) คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็นประมาณ 210 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1.2 ล้านเที่ยวบิน

ปัจจุบันผู้โดยสารยุโรป อินเดีย สหรัฐอเมริกา มีปริมาณเกินกว่าที่เคยเข้ามาเมื่อปี 62 สะท้อนให้เห็นอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศกลับมาแล้ว อย่างไรก็ดี บริษัทยังตั้งเป้าผู้โดยสารจีนเป็นตลาดที่สำคัญในการฟื้นตัวกลับมา โดยจำนวนผู้โดยสารจีนขณะนี้กลับเข้ามาเพียง 65% ของจำนวนในอดีต ฉะนั้นอีก 35% เชื่อว่าจะดึงกลับมาแล้วทำให้ปีหน้า เพื่อกลับไปที่จำนวนรวม 140 ล้านคนเท่ากับปี 62

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมจะเปิดให้บริการรันเวย์ที่ 3 ในเดือน ก.ย.67 และใช้บริการ SAT1 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีผู้โดยสารเกินวนัละ 120 เที่ยวบิน/วันไปแล้ว ซึ่งเป้าหมายจะใช้ให้เกิน 150 เที่ยวบิน/วัน ภายในเดือน ก.ย.นี้ อีกทั้ง AOT เพิ่มการบริการเพื่อให้ผู้โดยสารลดระยะเวลาในสนามบิน โดยการติดตั้ง Auto Gate 30 Gate และจะติดตั้งให้ครบ 80 Gate ภายในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาอย่างมีนัยสำคัญ

รวมทั้งพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) งบประมาณ 12,500 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน โดยคาดจะเปิดประมูลงานก่อสร้างไม่เกินเดือน พ.ย.67

และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ (South Expansion) วงเงินลงทุน 120,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารอีก 60 ล้านคนต่อปี เพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 512,000 ตารางเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาแผนแม่บท ในปี 67-68 ออกแบบปี 68-69 และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 70

*ขอคืนพื้นที่เช่าดิวตี้ฟรีแทบไม่กระทบ

นายกีรติ กล่าวว่า การขอคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาออกบางส่วน เพื่อทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภุมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 80 ล้านคน/ปีในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันนอยู่ที่ 60 ล้านคน ดังนั้น AOT ก็ต้องจัดเตรียมพื้นที่รองรับผู้โดยสารมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องจัดเตรียมพื้นที่ให้ผู้โดยสารพักคอยมากขึ้น มีสนามเด็กเล่น และ Co-working Space รวมทั้งจัดพื้นที่ให้แม่และเด็กในการให้นมบุตร ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางในการให้บริการผู้โดยสารมากขึ้น

แม้การขอคืนพื้นที่จะกระทบกับรายได้ค่าเช่าพื้นที่ลดลงประมาณเดือนละ 90 ล้านบาท  แต่เชื่อว่าบริษัทจะได้รับค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges: PSC) ที่คิดอัตรา 730 บาท/คนเข้ามาชดเชย  ดังนั้น AOT มองว่า บริษัทไม่ได้เสียรายได้ เพราะทำให้เรามีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น โดยเฉพาะสนามบินที่มีต่างชาติเข้ามามาก คือ สุวรรณภูมิ และภูเก็ต

ทั้งนี้ AOT ขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการของผู้ประกอบการ และพื้นที่ปฏิบัติงานของส่วนราชการบางส่วนภายในอาคาร Concourseและ SAT-1 ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  จำนวนรวมประมาณ 1,097.14 ตารางเมตร และภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ในท่าอากาศยานภูเก็ต  จำนวนรวม ประมาณ 491.22 ตารางเมตร รวมแล้วพื้นที่เช่าหายไป 8% ของพื้นที่ทั้งหมด  มีผลเมื่อ 1 ก.ค.67

ส่วนการยกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้า รวมถึงยกเลิกการยกเว้นอากรสินค้าที่ซื้อจากร้าน Duty Free สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา นายกีรติ กล่าวว่า AOT พร้อมที่จะยกลิกพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเข้าทุกสนามบิน เพื่อมาพัฒนาเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งพื้นที่เชิงพาณิชย์ขาเข้ามีไม่มากรวมแล้วมีประมาณ 20% ของพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมด และคิดเป็นรายได้ไม่ถึง 10% ของพื้นที่ขาออก ดังนั้น จึงไม่ได้กระทบกับรายได้ของ AOT อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ AOT อยู่ระหว่างรอให้กรมศุลกากรแจ้งมาว่าจะให้เริ่มเมื่อไรและอย่างไร จากนั้นก็จะเจรจากับคิงเพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้เช่าพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่หากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้เปลี่ยนแปลงผลตอบแทนตามสัญญาตามสัดส่วนพื้นที่

นายกีรติ กล่าวว่า การขอคืนพื้นที่ทั้งขาออกและขาเข้า เป็นไปตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่วางเป้าหมายผลักดันให้ท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก และเพิ่มศักยภาพของสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 150 ล้านคนต่อปี เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub)

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ AOT ที่ 55% มาจากรายได้จากกิจการการบิน (Aero)  ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่จากกิจการการบิน (Non-Aero) อยู่ที่ 45% โดย Non-Aero นอกจากพื้นที่ให้เช่า AOT ก็ยังมีพื้นที่  Airport City ประมาณ 600 ไร่ และพื้นที่ 723 ไร่ ใกล้สนามบิน โดจะนำพื้นที่  Airport City มาให้สัมปทาน เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ประชุม โรงแรม หรืออื่นๆ ที่สามารถเป็นรายได้ Non-Aro ได้ต่อไป ซึ่งคาดจะเปิดประมูลในปลายปีนี้ และปีหน้าคาดจะเซ็นสัญญาได้ ส่วนพื้นที่ 723 ไร่ ขณะนี้ได้เจรจากับผู้ประกอบการบางส่วน เพื่อจะพัฒนาเป็นโลจิสติกส์พาร์ค  ศูนย์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่การบินของสายการบิน

นายกีรติ คาดว่า AOT จะได้รับรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ทั้ง Airport City และพื้นที่ 723 ไร่ ประมาณ 900 ล้านบาท/ปี  คาดจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 69 หรือ 70

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 67)

Tags: , , ,