นายหวัง อัน-ปัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานของไต้หวันเปิดเผยว่า ไต้หวันจะผ่อนคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับการจ้างชาวต่างชาติที่จะเข้ามาเป็นผู้ดูแลคนสูงอายุ เนื่องจากอัตราการเกิดในไต้หวันที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ได้ทำให้คนสูงอายุประสบกับความยากลำบากในการหาผู้ดูแลในระยะยาว
สำนักข่าวเซนทรัล นิวส์ เอเจนซีของทางการไต้หวันรายงานว่า นายหวังได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติว่า รัฐบาลจะแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีที่มีประวัติการรักษาพยาบาลหรือมีความพิการมาเป็นเวลานาน ไม่จำเป็นอีกต่อไปที่จะต้องทำการประเมินสมรรถภาพทางกาย (functionality assessments) ก่อนที่จะจ้างผู้ดูแลที่เป็นชาวต่างชาติ โดยการแก้ไขข้อจำกัดนี้จะดำเนินการในเดือนก.ย. ซึ่งจะเอื้อประโยชน์กับประชาชนราว 55,000 คน
ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสังคมผู้สูงอายุขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก และอัตราการเกิดลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยนับจนถึงสิ้นเดือนมี.ค.ปีนี้ ไต้หวันมีจำนวนผู้สูงอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 910,000 คน ซึ่ง 41.7% ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการทางใดทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ไต้หวันมีการอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าควรจะยกเลิกการประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน (Barthel Index Functionality Assessment) ของประชาชนอย่างสิ้นเชิงหรือไม่ แต่นายหวังกล่าวว่าขณะนี้มีชาวต่างชาติที่เป็นผู้ดูแลคนสูงอายุในไต้หวันอยู่เพียง 210,000 คน ซึ่งบ่งชี้ว่าการตัดสินใจเรื่องนี้ควรต้องรอจนกว่าจะมีผู้ดูแลคนสูงอายุเพิ่มขึ้นก่อนที่จะผ่อนคลายข้อจำกัดเพิ่มเติม
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ไต้หวันได้ทำการยกเลิกการประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเล็กน้อย หรือผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลเป็นระยะเวลานานกว่า 6 เดือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 67)
Tags: สังคมผู้สูงอายุ, ไต้หวัน