กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยสถานการณ์โรคโควิด-19 รายสัปดาห์ ยังพบผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังไม่เกินขีดความสามารถระบบรักษาพยาบาล คาดยอดผู้ป่วยอาจพีคสุดเดือนก.ค.
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด19 โดยรวมพบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล สะสมตั้งแต่ต้นปี 31,205 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตสะสม 172 ราย ขณะที่ในระหว่างวันที่ 23-29 มิ.ย. 67 พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,256 ราย เฉลี่ยวันละ 465 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 709 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 336 ราย และเสียชีวิต 16 ราย
โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จึงขอเน้นย้ำให้กลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเมื่อเข้าไปในสถานที่เสี่ยง และเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 โดยยึดหลัก D-M-H คือ D = Distancing เว้นระยะห่าง M = Mask Wearing สวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการฟุ้งกระจายของละอองฝอย และ H = Hand Washing หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ เพราะมีโอกาสที่เราจะนำมือมาสัมผัสใบหน้าโดยไม่รู้ตัวได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ และแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
ทั้งนี้ หากมีอาการสงสัยว่าป่วย ควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย Antigen Test Kit (ATK) หากผลพบติดเชื้อ (ขึ้น 2 ขีด) ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม และไม่ควรอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- คาดยอดป่วยโควิด-19 พีคสุด ก.ค.
ด้าน นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลการติดตามโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีลักษณะการระบาดเป็นฤดูกาลคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ หรือสัมพันธ์กับช่วงที่มีกิจกรรมการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น การเปิดเรียน การเข้าค่าย การฝึกทหารเกณฑ์ ซึ่งคาดว่าจำนวนการป่วยรายสัปดาห์จากโควิดจะยังเพิ่มขึ้น และน่าจะสูงสุดในช่วงเดือนก.ค.
โดยปัจจุบัน อัตราป่วยตายของโรคนี้ในภาพรวมเท่ากับ 0.04% ถือว่าน้อยลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราป่วยตายในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีอัตราป่วยตายสูงถึง 2.16% (ข้อมูล มิ.ย. 64) สะท้อนว่าความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลดลง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในระดับประชากร ร่วมกับสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดไม่รุนแรง
นอกจากนี้ อัตราป่วยตายเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยในโรงพยาบาลเท่ากับ 0.7% ซึ่งลดลง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 66 สะท้อนให้เห็นว่าภาระโรคในปัจจุบัน ยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาเชิงระบบการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลทั่วประเทศยังมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ดี
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว เป็นช่วงฤดูกาลระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่ จึงขอแนะนำประชาชนที่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK หากพบผลติดเชื้อ (ขึ้น 2 ขีด) ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แยกตัว ไม่ใกล้ชิดกับผู้อื่นและรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เนื่องจากหากกลุ่มดังกล่าวติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 67)
Tags: COVID-19, ธงชัย กีรติหัตถยากร, โควิด-19