ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ 6 วันที่ 17-21 กันยายน 2567 ภายใต้หัวข้อหลัก “ศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่า ในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” ซึ่งจะมีประธานศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่า จากประเทศสมาชิก 18-19 ประเทศ จาก 21 ประเทศเดินทางมาเยือนประเทศไทย พร้อมผู้ติดตามราว 350 คน
การที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ประธานสมาคม AACC และเจ้าภาพการประชุม แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นที่ยอมรับไว้วางใจจากประเทศสมาชิกในความมีมาตรฐานของศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และการที่ประเทศไทยได้ทำหน้าที่ประธานดังกล่าวทำให้ประเทศไทยอยู่ในสายตาต่างประเทศ และสร้างบทบาทของการเป็นผู้นำประชาธิปไตยกลับสู่สายตาต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากปี 2558
นอกจากนี้ การประชุมในครั้งนี้ จะไม่เป็นเพียงการประชุมเฉพาะประเทศสมาชิกสมาคม AACC ในภูมิภาคเอเชียเท่านั้น สมาชิกของการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก (World Conference on Constitutional Justice: WCCJ) ซึ่งเป็นต้นแบบของยุโรปที่มีการตอบรับเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกา (CCJA) ภูมิภาคยุโรป (CECC) ภูมิภาคไอเบอโร – อเมริกา (CIC) และภูมิภาคยูเรเซีย (EACRB) ถือได้ว่าประเทศไทยได้รับการยอมรับไม่เพียงในระดับภูมิภาคเอเชีย แต่เป็นการยอมรับในระดับสากล
ประเทศไทย ในฐานะประธานสมาคม AACC และเจ้าภาพการประชุม มีความคาดหวังที่จะออกประกาศปฏิญญากรุงเทพมหานคร (Bangkok Declaration) ถือเป็นเอกสารรับรองจากบรรดาประเทศสมาชิกสมาคม AACC รวมจำนวน 21 ประเทศ ที่ให้ความเห็นชอบร่วมกันต่อการพัฒนาความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการปรับใช้หลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย และหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ให้บรรลุเป้าประสงค์ความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญที่ยั่งยืน
นายนพดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเผชิญปัญหาเหมือน ๆ กัน คือ การถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง ดังนั้นเวทีนี้จะเป็นการให้คำแนะนำ ปรับทุกข์ ให้ Moral supports ซึ่งกันและกัน แต่ต้องอยู่บนหลักการตุลาการต้องเป็นกลาง มีอิสระ ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน รักษาสิทธิมนุษยชน ยึดหลักนิติรัฐ และนิติธรรม
อีกทั้งการจัดการประชุมนานาชาติครั้งนี้ ย่อมส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการขยายตัว โดยผลพลอยได้จากการจัดประชุมในครั้งนี้คือ การส่งเสริม และแนะนำการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการต่อยอดกับแนวนโยบายของรัฐบาล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 67)
Tags: ประชาธิปไตย, ศาลรัฐธรรมนูญ