ผลสำรวจเปิดเผยในวันนี้ (1 ก.ค.) ว่า ภาคการผลิตของอินเดียกลับมาคึกคักอีกครั้งในเดือนมิ.ย. 2567 รับแรงส่งจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ดันอัตราการจ้างงานเพิ่มสูงสุดในรอบกว่า 19 ปี แม้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูง
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของอินเดียจาก HSBC ซึ่งรวบรวมโดย S&P Global แตะที่ระดับ 58.3 ในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าตัวเลขประมาณเบื้องต้นที่ 58.5 เพียงเล็กน้อย แต่สูงกว่าระดับ 57.5 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
“ภาคการผลิตของอินเดียปิดไตรมาสมิ.ย.ด้วยฐานที่แข็งแกร่งขึ้น” ไมเตรยี ดาส นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของ HSBC กล่าว
“แม้ภาพรวมของภาคการผลิตยังคงสดใส แต่ดัชนีผลผลิตในอนาคตลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน แม้จะยังคงยืนเหนือค่าเฉลี่ยในอดีต”
อุปสงค์ที่แข็งแกร่งช่วยหนุนดัชนีย่อยด้านผลผลิตและด้านคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนมิ.ย. ส่งผลให้ภาคการผลิตขยายตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในส่วนของความต้องการจากต่างประเทศนั้น แม้จะมีการชะลอตัวลงในเดือนมิ.ย. แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว
ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น โดยอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจเมื่อกว่า 19 ปีที่แล้ว
แม้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน แต่ก็ยังคงแข็งแกร่งและอยู่เหนือค่าเฉลี่ยระยะยาว
ผลสำรวจ PMI ระบุว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ต้นทุนราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนพ.ค. แต่ราคาสินค้าที่เรียกเก็บกับลูกค้ากลับเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 2 ปี
“ผู้ผลิตสามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังลูกค้าได้ เนื่องจากความต้องการยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตรากำไรดีขึ้น” ดาสกล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจล่าสุดของรอยเตอร์ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ใกล้จุดกึ่งกลางของกรอบเป้าหมายธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่ 2-6% โดยอยู่ที่ 4.6% และ 4.5% ในปีงบประมาณปัจจุบันและปีหน้าตามลำดับ
ผลสำรวจของรอยเตอร์ยังคาดอีกว่า ธนาคารกลางอินเดียจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 6.25% ในไตรมาสหน้า และจะปรับลดลงอีก 0.25% ในไตรมาสม.ค.-มี.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 67)
Tags: PMI, อินเดีย, เศรษฐกิจอินเดีย