รายงานฉบับใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (UN) พบว่า ธนาคารระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ในการจัดหาอาวุธโจมตีประชาชนอย่างเป็นระบบและร้ายแรง
นายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาของ UN ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (26 มิ.ย.) ว่า ปัจจุบัน ธนาคารในประเทศไทยได้กลายมาเป็นช่องทางหลักแก่กองทัพเมียนมาเพื่อซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ รวมถึงชิ้นส่วนสำหรับเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ ที่ใช้ในสงครามกลางเมืองที่กินเวลานานกว่า 3 ปี และสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศ ตลอดจนสังหารพลเรือนมากกว่า 5,000 ราย
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า รายงานดังกล่าวมีชื่อว่า “Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar” ระบุว่า มีธนาคาร 16 แห่งใน 7 ประเทศที่ดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างทางทหารของรัฐบาลทหารในช่วงปีที่ผ่านมา มูลค่าถึง 253 ล้านดอลลาร์ในช่วงระหว่างเดือนเม.ย. 66 – มี.ค. 67
“ด้วยการพึ่งพาสถาบันการเงินที่มีความเต็มใจในการทำธุรกิจกับธนาคารของรัฐบาลเมียนมาภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร รัฐบาลทหารจึงสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็น เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ รวมถึงการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน” นายแอนดรูว์ส ระบุในรายงาน
อย่างไรก็ตาม ปริมาณอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารที่รัฐบาลทหารซื้อผ่านธนาคารต่างประเทศลดลง 1 ใน 3 จากตัวเลขของปี 2566 โดยยอดการส่งออกจากสิงคโปร์ปรับตัวลดลงอย่างมาก
นายแอนดรูว์ส เปิดเผยว่า ธนาคารระหว่างประเทศจำเป็นต้องรู้ว่า มีความเสี่ยงสูงที่ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐเมียนมาอาจมีส่วนช่วยในการซื้ออาวุธหรือวัสดุเกรดอาวุธที่เติมเชื้อเพลิงให้กับสงครามของรัฐบาลทหาร
“หากคุณต้องการมั่นใจว่าสิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น ก็อย่าทำธุรกิจกับธนาคารของรัฐบาลเมียนมา” นายแอนดรูว์ส ทิ้งท้าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 67)
Tags: UN, กองทัพเมียนมา, สหประชาชาติ, เมียนมา