น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก (TDRI) กล่าวในวงเสวนา “เศรษฐกิจไทยใต้วิกฤติโลกเดือด” โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีโอกาสจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก และคาดว่าทั้งปีจะเติบโตได้ราว 2.5-2.8% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออก และการท่องเที่ยว รวมถึงต้นทุนราคาพลังงานที่อาจจะสูงขึ้น แต่ภายใต้ความเสี่ยงดังกล่าว ประเทศไทยยังมีโอกาสสร้างความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ คือ อัตราเงินเฟ้อต่ำ และดอกเบี้ยไม่สูง ความแข็งแรงของเศรษฐกิจมหภาค
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยไม่เลือกข้าง ซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่าไทยมีความเป็นมิตรประเทศ ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทย ถือว่าอยู่ในระดับต้นๆ ของอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ดึงดูดการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล รวมทั้งการให้ความสนใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานสะอาด
น.ส.กิริฏา ยังกล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยคาดว่า เฟดมีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้ง ในเดือนธ.ค.ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี และคาดว่าปีหน้าอาจมีโอกาสลดลงได้อีก 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ซึ่งมองว่าอัตราดอกเบี้ยโลกจะไม่อยู่ในระดับที่ต่ำเหมือนในช่วงของโควิดแล้ว
“ทุกคนต้องทำใจว่าดอกเบี้ยจะไม่ได้ลดลงเยอะแล้ว ดอกเบี้ยจะไม่ต่ำแบบตอนโควิดอีกต่อไป เราต้องอยู่กับเศรษฐกิจโลกที่ดอกเบี้ยจะสูงกว่าในช่วงโควิด” น.ส.กิริฏา กล่าว
ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายในประเทศนั้น คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงหลังจากเฟดลดดอกเบี้ยไปแล้ว เพราะเชื่อว่า กนง.จะมีความกังวลว่าถ้าลดดอกเบี้ยก่อนเฟด อาจจะกระทบต่อ fund flow และส่งผลทำให้เงินบาทอ่อนค่า และเงินเฟ้อสูงตามมา
“ถ้า กนง.จะลดดอกเบี้ยในช่วงนี้ จะทำให้ความห่างของดอกเบี้ยเฟดกับดอกเบี้ยไทยห่างกันมากขึ้น เงินก็จะไหลออกมาก และมีผลให้บาทอ่อน เชื่อว่า กนง.คงคำนึงถึงผลกระทบเรื่อง fund flow เงินเฟ้อ ราคาพลังงาน เพราะโอกาสที่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นก็มี จากที่ดิจิทัลวอลเล็ตจะมาในไตรมาส 4 ซึ่งจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของจีดีพี ดังนั้นอาจจะทำให้สินค้าราคาเพิ่มขึ้น ดังนั้น กนง.คงไม่อยากลดดอกเบี้ยเร็วนัก ถ้าลด คงลดหลังเฟด และคงจะลดเพียงครั้งเดียวในปีนี้ และปีหน้าอาจละอีก 1-2 ครั้ง” น.ส.กิริฎา กล่าว
ด้าน น.ส.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ มีโอกาสสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก และความไม่แน่นอนนี้อาจจะลากยาวไปถึงปีหน้าได้ ซึ่งความไม่แน่นอนนี้มีอาจส่งผลกระทบหลายด้าน เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการค้า ความไม่แน่นอนต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งความไม่แน่นอนต่อนโยบายทางการเงิน
สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น.ส.ฐิติมา คาดว่า จะขยายตัวได้ราว 3% ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก และคาดว่าทั้งปีจะโตได้ 2.5% ทั้งนี้การเติบโต 2.5% จะต้องดูไส้ในด้วยว่าการส่งออกยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ การท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนั้น มีการใช้จ่ายจริงมากด้วยหรือไม่ อีกทั้งกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่อาจจะแผ่วลง เนื่องจากมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนสูง ดังนั้นอาจจะต้องฝากความหวังไว้กับการลงทุนภาครัฐและเอกชน
ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินในประเทศนั้น คาดว่า คงจะเห็น กนง.ปรับลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้งในช่วงปลายปีนี้ และอีก 1 ครั้งในปีหน้า
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสินค้าไทยแข่งขันกับสินค้าจีนได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นไทยอาจจะต้องปรับตัวไปสู่ธุรกิจใหม่ หรือไปเน้นในภาคบริการมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องการวิจัยและพัฒนามากขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
“หากจะแข่งกับจีนตรงๆ คงสู้ยาก เราต้องมี R&D หรือออกไปภาคบริการ ตอนนี้หลายประเทศเริ่มตั้งกำแพงภาษี เราต้องมองหาธุรกิจใหม่ๆ เช่น เครื่องมือแพทย์ หรือบริการด้าน health care ลิงก์กับ supply chain ที่เรามี เพราะถ้าจะให้ไปแข่งเรื่องการผลิตโดยตรงกับสินค้าจีนนั้น เราคงสู้ได้ยาก” นายบุรินทร์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนในการขอใบอนุญาต ทั้งนี้เพื่อให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสู้กับประเทศอื่นๆ ได้ และเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 67)
Tags: นักเศรษฐศาสตร์, เศรษฐกิจไทย