ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหลักการสำคัญว่าด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติ ที่ลดจากเสียงข้างมากสองชั้น เป็นเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว
โดยมีผู้เสนอร่างกฎหมายรวม 4 ฉบับ คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.), พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย ซึ่ง สส.ได้ร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อสนับสนุนการแก้ไขดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ การแก้ไขกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปลดล็อกเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยง่าย
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน คือ ขอแก้ไขผลการออกเสียงประชามติที่ถือเป็นข้อยุติ จากเดิมที่มีเงื่อนไขกำหนดล็อคไว้ 2 ชั้น คือ 1.ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 2.ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ ทั้งนี้ เพื่อให้มีขั้นตอนผ่านการทำประชามติได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้น ที่ประชุมฯ ยังอภิปรายถึงการตั้งคำถามประชามติ ที่รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขไม่ให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ว่า เป็นประเด็นที่ควรทบทวน เพื่อให้เกิดคำถามประชามติที่เข้าใจง่าย และประชาชนไม่สับสน โดยควรเป็นคำถามเพียงชั้นเดียว ไม่มีลักษณะเป็นคำถามพ่วง เป็นต้น
นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปว่า การแก้ไขเกี่ยวกับการใช้เสียงผ่านประชามติ ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกับเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นพรรคเพื่อไทยเสนอตรงไปตรงมา ในกรณีเสียงข้างมากสองชั้น เป็นกติกาที่ผู้ไม่เห็นด้วยรวมกับผู้ไม่มาออกเสียงลงคะแนนเป็นเสียงข้างมาก และชนะผู้ที่ลงคะแนนเห็นชอบ ทั้งนี้ สอดคล้องกับฉบับของรัฐบาล และไม่ต่างจากพรรคก้าวไกล นอกจากนั้น ยังแก้ไขเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องที่ออกเสียงให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทำได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบิดเบือนที่นำไปสู่การลงประชามติในเรื่องใด ๆ เพราะเข้าใจผิด
“เป็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ต่อการแก้มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ให้ พ.ร.บ.ประชามติขัดขวางการแก้ไข ดังนั้นด้วยหลักเกณฑ์ที่ตรงไปตรงมา คือ รัฐธรรมนูญฉบับแม่ ทำประชามติด้วยหลักเกณฑ์อย่างไร ประชามติที่เกิดขึ้นโดยกฎหมายประชามติต้องเป็นไปหลักเกณฑ์เดียวกัน การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ถูกยับยั้งหรือขัดขวาง แต่หากไม่แก้ไขให้ถูกต้อง การทำประชามติที่เกิดขึ้น อาจทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกยาวนาน เพราะจะสรุปว่าประชาชนทั่วประเทศไม่เห็นด้วย” นายจาตุรนต์ กล่าว
- ก้าวไกล ส่ง “ปิยบุตร” นั่ง กมธ.
ขณะที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสรุปว่า การอภิปรายของ สส.พบว่ามีการตั้งคำถามถึงการออกแบบคำถามประชามติ ซึ่งไม่เกี่ยวและอยู่ในเนื้อหาของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจะรวบรวม สส. เสนอญัตติเพื่อถกเถียงถึงข้อเสนอคำถามประชามติ ให้เป็นเวทีที่นำไปสู่การตั้งคำถามที่เหมาะสม หลังจาก พ.ร.บ.ประชามติฉบับแก้ไขแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมสภาฯ ใช้เวลาในการอภิปรายเกือบ 5 ชั่วโมง จึงได้ลงมติรับหลักการวาระแรก ด้วยเสียงเห็นชอบเอกฉันท์ 451 เสียง งดออกเสียง 1 คน จากนั้นได้เสนอตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) 31 คน โดยการเสนอชื่อบุคคลเป็น กมธ.วิสามัญ พบว่า พรรคก้าวไกล เสนอชื่อได้ 7 คน หนึ่งในนั้น คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ขณะที่สัดส่วนของ ครม. ได้ส่งนายชัยเกษม นิติศิริ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มิ.ย. 67)
Tags: จาตุรนต์ ฉายแสง, ประชามติ, พริษฐ์ วัชรสินธุ, รัฐสภา