นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนการลงทุนพัฒนาศักยภาพการให้บริการของสนามบิน 2 โครงการ งบลงทุน 2,200 -2,300 ล้านบาท ระยะเวลา 1-2 ปี ตอบรับแนวโน้มการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
โครงการแรก เป็นโครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารสนามบินสมุย คาดใช้งบประมาณในการลงทุน 1,500 ล้านบาท เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยวางแผนปรับปรุงสนามบินเพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่พักคอย (Boarding gate) ภายในอาคารผู้โดยสารจากเดิม 7 อาคาร เพิ่มเป็น 11 อาคาร และเพิ่มเคาน์เตอร์เช็คอิน จำนวน 10 เคาน์เตอร์ รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมขออนุญาต และการออกแบบในรายละเอียดต่างๆ
โครงการนี้คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการปรับปรุงส่วนต่างๆ โดยทยอยทำทีละเฟส เพราะยังคงใช้งานในพื้นที่เดิม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะทำให้สนามบินสมุยสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 1 ล้านคน/ปี เป็น 2 ล้านคน/ปี ซึ่งจะมีการเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางสมุยตามไปด้วย
อีกแห่งเป็นการขยายสนามบินตราด งบลงทุน 700-800 ล้านบาท บริษัทมีแผนสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ และขยายระยะทางวิ่ง (runway) เพิ่มเป็น 2,000 -2,100 เมตร จากปัจจุบันความยาวรันเวย์ 1,800 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินไอพ่นขนาดเล็กได้ อาทิ โบอิ้ง 737 แอร์บัส 320 ขึ้นจากเดิมรองรับได้เพียงเครื่องบินใบพัด
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทได้รับการสอบถามอย่างมากจากนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่มีความสนใจมาลงที่สนามบินตราด ซึ่งปัจจุบันสนามบินตราดรองรับผู้โดยสารได้น้อย ที่จะใช้เครื่องบิน ATR วันละ 1-2 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร กว่า 100 คน/ครั้ง ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ ที่อยู่ห่างจากหลังเดิมราว 1 กม.ที่คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างในครึ่งหลังของปีนี้ คาดใช้เวลา 1 ปีกว่าถึง 2 ปี และขยายรันเวย์ เพื่อจะใช้เครื่องบินลำใหญ่ รองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น สนามบินจะสามารถ รองรับเพิ่มเป็น 200-300 คน/ครั้ง ส่วนอาคารผู้โดยสารหลังเดิม อาจจะนำไปใช้ในกิจการคาร์โก้
ทั้งนี้ พื้นที่สนามบินตราด บริษัทเป็นเจ้าของพื้นที่ขนาดใหญ่ราว 1,600 ไร่ โดยใช้ 200-300 ไร่ ที่สามารถรองรับการขยายพื้นที่ร้านค้า พื้นที่ลานจอด และอาคารผู้โดยสาร
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทกำลังทบทวนเป้าหมายผลการดำเนินงานที่ได้วางเป้ารายได้สายการบินบางกอกแอร์เวย์สปีนี้เติบโต 10% จำนวนผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) อยู่ระดับ 79% เนื่องจากผลประกอบการในไตรมาส 1/67 เติบโตมาก โดยมี Cabin Factor กว่า 80% และในไตรมาส 2/67 – ไตรมาส 3/67 ที่เข้าช่วง Low Season แต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น โดย 2 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.-พ.ค.) Cabin Factor อยู่ระดับ 76-78% และในไตรมาส 3/67 Cabin Factor น่าจะกลับมากว่า 80% โดยเส้นทางสมุยกลับมาคึกคักเพราะอยู่ในช่วง Summer Holiday ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป
“ดีมานด์เข้ามาดีกว่าที่เราคาด ทำให้ค่าตั๋วปรับขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 4,400 บาท/ใบ ในไตรมาส 1/67 สูงกว่าเป้าที่วางไว้ 3,900 บาท/ใบ 2 เดือนในไตรมาส 2 ก็ยังดีมาจากดีมานด์เข้ามา … กำลังทบทวนเป้าหมาย อาจมีการปรับงบประมาณภายใน” นายพุฒิพงศ์ กล่าว
ในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 67 มียอดการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้า (Advanc Booking) ในช่วงมิ.ย. – ธ.ค. 67 ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในทุกเส้นทางเติบโต 13% จากปีก่อน (YoY) โดยเส้นทางสมุยมีสัดส่วน 65% ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/67 มียอดจองล่วงหน้าเติบโต 3% YoY ไตรมาส 3 เติบโต 11% YoY และไตรมาส 4/67 มียอดจองล่วงหน้าโต 35% เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น
สอดคล้องกับข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ในเดือน มิ.ย.67 คาดการณ์อัตราการเติบโตของการเดินทางทางอากาศในปี 67 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นที่ 17.2% และสามารถกลับมาสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความต้องการเดินทางมีแนวโน้มดี บริษัทจึงได้วางแผนขยายรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
ปัจจุบัน สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีจุดบิน 20 เมือง ยังไม่มีการปรับเพิ่ม แต่บางเมืองก็ไม่ได้รับการตอบรับเหมือนช่วงก่อนโควิด การเพิ่มจุดบินก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ด้วย โดยสุมย มีสัดส่วนเที่ยวบินเป็นหลัก 59% รองลงมาเป็นเส้นทางภายในประเทศ 30% และอื่นๆในภูมิภาค 11%
ขณะเดียวกันในไตรมาส 2/67 บริษัทได้ลงนามข้อตกลงให้บริการเที่ยวบินร่วมกับสายการบินลุฟท์ฮันซ่า (LH) และ สายการบินสวิสแอร์ (LX) มีผลต้งแต่วันที่ 16 พ.ค.67 และ 4 มิ.ย. 67 ตามลำดับ โดยความร่วมมือด้านเที่ยวบินร่วม (Codeshare Partner) ในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางบินของสายการบิน ทำให้ปัจจุบัน มีสายการบิน Codeshare 30 สายการบิน และ มีการขายเที่ยวบินเชื่อมต่อ (Interline Agreement) มากกว่า 70 สายการบิน
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า แผนการเพิ่มฝูงบิน ในปี 67 จะมีการรับมอบเครื่องบินอีก 2 ลำ เป็นแอร์บัส A319 ที่จะเข้ามาในครึ่งปีหลังที่จะรองรับการเติบโตการท่องเที่ยว โดยเน้นนำไปใช้เส้นทางสมุย และคืนเครื่องแอร์บัส A320 ออกไป 1 ลำ ทำให้สิ้นปีจะมีจำนวน 25 ลำ จากปีก่อนมี 24 ลำ
ในแผน 3-5 ปี นายพุฒิพงศ์ คาดว่าจำนวนเครื่องบินน่าจะมีจำนวน 30 ลำ ซึ่งก็ต้องมาทำแผนว่าจะใช้วิธีเช่า หรือ เช่าซื้อ ขณะที่บุคคลากร นักบินของบริษัทยังมีเพียงพอ รวมทั้งต้องมาประเมินว่าจะใช้งบ และแนวทางไหนที่ตอบโจทย์บริษัทไม่ว่าจะซื้อหรือเช่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 67)
Tags: BA, การบินกรุงเทพ, พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ, สายการบิน, หุ้นไทย