นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า สายการบินฯ ร่วมมือกับ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ในเที่ยวบินนำร่อง เพื่อแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ
ทั้งนี้ การดำเนินตามแนวทางดังกล่าว ยังสอดรับกับทุกภาคส่วนทั่วโลกที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ในปี 2050 (Net Zero Carbon Emission 2050) และตามมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมถึงสมาคมการบินระหว่างประเทศ (IATA)
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์ส จะเริ่มทยอยใช้น้ำมัน SAF แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแผนจะใช้ SAF สัดส่วน 1% ของปริมาณการใช้น้ำมันรวมที่ 10 ล้านลิตร/เดือนภายในปี ค.ศ.2026 ที่เป็นไปตามเป้าหมายสมาคมการบินเอเชียแปซิฟิกแบบสมัครใจ อย่างไรก็ดี ขึ้นกับซัพพลาย SAF ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด และผลกระทบต่อต้นทุน เพราะเฉลี่ยต้นทุนน้ำมัน SAF มีราคาสูง 3 เท่าของน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (JET A1)
บางกอกแอร์เวย์สได้นำร่องใช้น้ำมัน SAF ในเส้นทางสมุย ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของ BA ที่มีสัดส่วนรายได้กว่า 50% ของรายได้การบินทั้งหมดของบริษัท โดยผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่ง 80% เป็นชาวยุโรปที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม น่าจะทำให้สายการบินบางกอกแอร์เวย์สได้รับการยอมรับมากขึ้น
“บางกอกแอร์เวย์สมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินสีเขียวให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค จึงได้พัฒนากระบวนการดำเนินงานด้านการปฏิบัติการบินภายใต้ความปลอดภัยสูงสุด เพื่อช่วยลดการปล่อย CO2 มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2023 ที่ผ่านมาสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับ 11,321 ตัน หรือมากกว่า 200 กิโลกรัม/เที่ยวบิน และการเติมน้ำมัน SAF ในเที่ยวบินนำร่องของบางกอกแอร์เวย์สในครั้งนี้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 โดยประมาณ 1,346 กิโลกรัมต่อเที่ยวบิน”
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวว่า SAF เป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกับน้ำมัน Jet ผลิตจากน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว หรือที่เรียกว่า UCO (Used Cooking Oil) โดย SAF สามารถผสมเข้าไปกับน้ำมัน Jet เพื่อให้ใช้ในเครื่องบินได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงเครื่องยนต์ ถือว่าเป็นพลังงานที่ลดการปลดปล่อย Carbon โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ปตท. ค้าสากล จำกัด (PTTT) บริษัทในกลุ่ม ปตท. เป็นผู้จัดหาและนำเข้า
ปัจจุบัน OR จัดหาน้ำมัน SAF ให้กับ 3 สายการบินในไทย ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินไทย และสายการบินไทยเวียดเจ็ท โดยได้นำเข้าตามความต้องการ ไม่มีการสำรอง ขณะเดียวกับกลุ่ม PTT โดย บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เป็นผู้ผลิตน้ำมัน SAF คาดว่าจะเริ่มผลิตต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้า
“ยอมรับว่า OR ยังไม่เห็นความต้องการ (Demand) น้ำมัน SAF อย้างชัดเจน แต่เท่าที่พูดคุยกับแอร์ไลน์ต่างๆ จะมีปริมาณการใช้ 1-2% และกลยุทธ์ของแต่ละแอร์ไลน์ ทั้งนี้ OR เป็นผู้จำหน่ายน้ำมัน Jet A1 สัดส่วน 50% ของตลาด” นายดิตทัษ กล่าว
สำหรับแผนลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV) ปัจจุบัน OR ได้ติดตั้งครบ 77 จังหวัดแล้ว และจะขยายความถี่ของสถานีชาร์จในพื้นที่ที่มีความต้องการและปริมาณการใช้รถ EV อาทิ กทม เชียงใหม่ สมุย โดยได้ขยายสถานีชาร์ชที่สนามบินสมุยด้วย ซึ่ง OR เป็น Leader และมีความเชี่ยวชาญการติดตั้งอยู่แล้ว
- BA เดินหน้ายกระดับ 3 สนามบิน Green Terminal
นายนิจพัฒน์ ปิยะพันธ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายสนามบิน BA กล่าวว่า นอกจากการยกระดับความยั่งยืนในมิติของ Airlines แล้ว บริษัทยังตั้งเป้าหมายและวางแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาสนามบิน 3 แห่ง (สมุย สุโขทัย ตราด) ภายใต้การบริหารเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนในอนาคต ผ่านแนวคิด Green Airport โดยมีสนามบินสมุย ซึ่งเป็นสนามบินแห่งแรกที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้นแบบตามแนวทางดังนี้
– ด้านการออกแบบอาคารผู้โดยสาร โดยเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ และอาคารที่โปร่งแสงรับแสงจากธรรมชาติ ลดการเปิดไฟ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบสนามบิน
– ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไว้ให้บริการผู้โดยสาร การเปลี่ยนสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ เป็นสารทำความเย็นที่มีอัตราการเผาไหม้ที่ต่ำ และหลอดไฟภายในสนามบินกว่า 80% เป็นหลอด LED
– การจัดการของเสีย จัดตั้งถังแยกขยะตามประเภท รณรงค์การใช้พลาสติกเป็นศูนย์ และใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสียแบบครบกระบวนการ โดยนำน้ำมารีไซเคิล เพื่อใช้รดน้ำต้นไม้ภายในสนามบิน ซึ่งทำให้การปล่อยน้ำเสียออกสู่ธรรมชาติเป็นศูนย์ และลด CO2 จากการใช้น้ำได้กว่า 39.7 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี
– แผนดำเนินงานสู่เป้าหมายการปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อาทิ แผนปรับปรุงระบบไฟส่องสว่างของลานจอดให้เป็น LED ทั้งหมด การติดตั้ง Solar Cell แผนการปรับใช้รถให้บริการภาคพื้นดินเป็นระบบไฟฟ้า และการพัฒนาสนามบินให้เป็น Green Terminal
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 67)
Tags: BA, OR, การบินกรุงเทพ, ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก, พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ, สมุย, สายการบิน