นางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2567 โดยสำนักอนามัย ได้รายงานสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ เช่น โรคโควิด-19, โรคไข้หวัดใหญ่, โรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อฝีดาษวานร
- ยอดป่วย “โควิด” คาดพีค มิ.ย.-ก.ค.
สถานการณ์โรคโควิด-19 ในกรุงเทพฯมีลักษณะติดเชื้อตามฤดูกาล (Seasonality) ซึ่งคาดว่าจำนวนการป่วยรายสัปดาห์จะยังเพิ่มขึ้น และน่าจะสูงสุดในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. เป็นสายพันธุ์ JN.1 ปัจจุบันอัตราป่วยตาย อยู่ที่ 0.02% ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงสายพันธุ์เดลต้า (CFR ที่ 2.16% ณ มิ.ย. 64) บ่งชี้ว่าความรุนแรงของโรคลดลง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในระดับประชากร ร่วมกับสายพันธุ์ไม่รุนแรง
ส่วนภาพรวมภาระโรค ยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาเชิงระบบการดูแลรักษาพยาบาล โรงพยาบาลยังมีศักยภาพสูงในการดูแลผู้ป่วย อัตราป่วยตายในกลุ่มผู้ป่วยในลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2566
สำนักอนามัย จึงเน้นย้ำให้ประชาชนดูแลสุขอนามัย สวมหน้ากากอนามัย พบแพทย์หากมีอาการรุนแรง และหลีกเลี่ยงการนำเชื้อไปสู่กลุ่มเปราะบาง
- “ไข้หวัดใหญ่” แนวโน้มระบาดเพิ่มเป็นกลุ่มก้อน
สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ในกรุงเทพฯ ปี 2567 มีผู้ป่วย จำนวน 21,406 ราย จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า สูงกว่าปี 2566 และสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และพบผู้เสียชีวิต 2 ราย รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. อัตราป่วยสูงสุดพบในเด็กวัยเรียน อายุ 5-14 ปี การระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่พบในเรือนจำ โรงเรียน และสถานปฏิบัติธรรม
สายพันธุ์ที่พบ มีทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B ซึ่งปัจจุบันมีการรณรงค์เชิญชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล พร้อมประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนประชาชนในเรื่องการป้องกันโรค และการแพร่กระจายเชื้อ โดยเน้นการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
- เร่งรณรงค์ป้องกัน “ไข้เลือดออก” ในชุมชน
สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ใน กทม. ปี 2567 สัปดาห์ที่ 21 (ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.-1 มิ.ย.67) มีผู้ป่วยสะสม 1,973 ราย เสียชีวิต 3 ราย เมื่อเทียบกับประเทศไทย กรุงเทพฯ มีอัตราป่วยเป็นลำดับที่ 46 และมีอัตราป่วยเป็นลำดับที่ 6 เมื่อเทียบกับปริมณฑล กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อายุ 5-14 ปี รองลงมา คือ อายุ 15-34 ปี และอายุ 0-4 ปี
เมื่อแยกข้อมูลเป็นรายเขต พบว่า 3 เขต ที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด ได้แก่ เขตภาษีเจริญ (แขวงคูหาสวรรค์) เขตดุสิต (แขวงสี่แยกมหานาค) และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (แขวงคลองมหานาค)
สำหรับมาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายนั้น สำนักอนามัย แนะนำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยสงสัยโรคไข้เลือดออก ควรทายากันยุงป้องกันยุงกัดทุกราย เพื่อลดการแพร่โรค ตลอดจนผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน และผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีการระบาด เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลายไปสู่ชุมชน
รองผู้ว่าฯ กทม. ได้เน้นย้ำในการรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก แม้ว่าปี 67 จะสามารถควบคุมยอดผู้ป่วยได้มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดว่าปีนี้จะมีฝนตกหนัก ดังนั้น การรณรงค์เรื่องโรคไข้เลือดออก ต้องมีกิจกรรมเพิ่มเติม และทำอย่างเข้มข้นในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ลงพื้นที่ตามชุมชน นอกจากนี้ ยังต้องรณรงค์เพิ่มเติมในกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มวัยทำงานด้วย
- “ฝีดาษลิง” ห่วงยอดพุ่งช่วง Pride Month
สถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษวานร (Mpox) กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงสุดในประเทศไทย สำหรับมาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคฝีดาษวานร ยังต้องมีการเฝ้าระวัง และเพิ่มมาตรการในการคัดกรองผู้มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล Pride Month ซึ่งอาจจะมีการเบียดเสียดของคนที่ไปร่วมงานได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มิ.ย. 67)