“พิธา” แจง 9 แนวทางสู้คดียุบพรรค คาดใช้เวลาพิจารณาอีกนาน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลง 9 แนวทางในการต่อสู้คดียุบพรรคฯ โดยเป็นเอกสารหนา 74 หน้าส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา พร้อมจัดเตรียมพยานไว้กว่า 10 รายหากศาลมีคำสั่งให้มีการไต่สวนเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาคดีนานพอสมควร

“จุดประสงค์เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเผชิญอยู่ ไม่ได้มีเจตนาที่จะกดดันศาลแต่อย่างใด…คดียุบพรรคก้าวไกลแตกต่างไปจากคดียุบพรรคในอดีต” นายพิธา กล่าว

แนวทางการต่อสู้คดี แบ่งออกเป็น 3 หมวด ใน 9 ประเด็น ประกอบด้วย

– เขตอำนาจและกระบวนการ

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 กำหนดอำนาจและหน้าที่ไว้เพียง 3 ข้อ การใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่บ่อเกิดอำนาจที่นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง

2.กระบวนการยื่นคำร้องของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่เคยเปิดโอกาสพรรคก้าวไกลที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงเลย ซึ่งขัดต่อระเบียบของ กกต.

– ข้อเท็จจริง

3.คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ที่ให้ยุติความเคลื่อนไหวในการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับ ข้อกล่าวหาและระดับโทษแตกต่างกัน

4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ แม้จะมีผู้ยื่นคำร้องให้ กกต.พิจารณา แต่ในที่สุด กกต.ก็ยกคำร้อง อีกทั้งไม่เคยถูก กกต.ตักเตือนเลย กระบวนการพิจารณาคดีจึงต้องดำเนินการใหม่ทั้งหมด ให้เกิดความละเอียดรอบคอบ เข้มข้นมากกว่า เพื่อพิสูจน์ให้สิ้นกระแสข้อสงสัย

5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ไม่ได้เป็นมติพรรค ไม่ว่าจะเป็น กรณีสมาชิกพรรคไปเป็นนายประกันซึ่งทุกพรรคก็ดำเนินการเช่นกันในคดีอื่น ๆ ที่ได้รับการร้องขอ เพราะเมื่อยังไม่มีคำพิพากษาออกมาต้องสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้หมายความว่าสนับสนุนการกระทำนั้น กรณีสมาชิกพรรคต้องคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือกรณีแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ที่ยังไม่มีการเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎรเลย ซึ่งหากเสนอจริงก็สามารถยับยั้งได้ในทุกขั้นตอน

– สัดส่วนโทษ

6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่นได้ ควรเป็นแนวทางเพื่อปกป้องพรรคการเมือง เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีเคยมีคำวินิจฉัยกรณีที่มีพรรคการเมืองนำลัทธินาซีมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ลงโทษไม่ถึงขั้นยุบพรรค เพราะยังไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมว่าหากดำเนินการไปแล้วจะประสบความสำเร็จจริงหรือไม่

7.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค

8.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมืองต้องได้สัดส่วนกับความผิด เพราะมีโทษดังกล่าวเทียบเท่ากับความผิดในคดีอาญา

9.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับชุดกรรมการบริหารพรรค ควรพิจารณาเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่อยู่ในช่วงถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด

“มั่นใจทุกข้อเท่ากันทั้ง 9 ข้อ ให้น้ำหนักเท่ากันหมด เพราะเป็นบันไดที่จะใช้ในการต่อสู้” นายพิธา กล่าว

ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในคำชี้แจงที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีทุกประเด็นที่เป็นข้อกล่าวหา และไม่อยากคาดเดาว่าหากมีการยุบพรรคจะเกิดผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่คิดว่าเมื่อยุติการกระทำตามที่ศาลสั่งแล้วน่าจะเพียงพอ ไม่ถึงขั้นยุบพรรค หรือไปตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ ระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมือง เมื่อเกิดขึ้นบ่อย ๆ สองครั้งในห้าปีก็เป็นเรื่องไม่ปกติ

โดยขณะนี้พรรคเน้นเตรียมตัวเรื่องการต่อสู้คดี ส่วนมาตรการรองรับผลของคดีก็ต้องเตรียมความพร้อมไว้ทุกสถานการณ์ ส่วนกระแสข่าวเกิดปัญหางูเห่านั้นน่าจะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง หมดโอกาสที่จะกลับเข้ามาทำงานการเมือง ซึ่งประชาชนตรวจสอบกันมาก ตนไม่ประมาทแต่ไม่กังวล ก็ตรวจสอบกระแสข่าวที่บางพรรคต้องการได้ สส.ไปเพิ่มเพื่อต่อรองโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี ตนไม่ได้หูเบา ยังให้โอกาสและความเป็นธรรมคนที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง ไม่ให้กลายเป็นเรื่องยุแยงจนเกิดความแตกแยกภายในพรรค ส่วนกระแสความนิยมตามผลโพลนั้นไม่ได้ความสำคัญมากนัก พรรคยังคงเดินหน้าทำงานต่อไป เพราะเชื่อว่าหากเน้นการทำงาน เน้นอุดมการณ์ ตราบใดที่เรารักษาไว้ก็ยังมีพวกเราอยู่ในสารบบการเมืองต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 67)

Tags: , ,