นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แนวโน้มการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงดอกเบี้ยสูงไปอีกระยะ (Higher for Longer) หลังจาก IMF ประเมินสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในทะเลแดง
ทำให้สายการเดินเรือใหญ่ปรับเส้นทางขนส่งซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าระวางเรือ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดจะยังทรงตัวในระดับสูงกระทบอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้ากว่าคาด แม้ว่าตลาดแรงงานส่งสัญญาณชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังคงอ่อนแอ รัฐบาลจีนประกาศมาตรการรักษาเสถียรภาพและกระตุ้นตลาดหุ้นทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนและฮ่องกงเริ่มฟื้นตัว
สำหรับเศรษฐกิจไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1/67 ขยายตัว 1.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 0.8% หลังได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไทยปรับเพิ่มเป็นบวกเดือนแรกหลังหดตัวติดต่อกันหกเดือน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออก
อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/67 โดยภาพรวมมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากกว่างวดเดียวกันของปีก่อน เช่น ธุรกิจโรงแรม การบิน พื้นที่เช่า ค้าปลีก และโทรคมนาคม นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนเกินครึ่งรายงานกำไรสุทธิสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทำให้นักวิเคราะห์ปรับ Forward EPS ของ SET เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า ขณะที่ valuation ของหุ้นไทยหลาย sector ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย
– ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 SET Index ปิดที่ 1,345.66 จุด ปรับลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 5.0% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยผู้ลงทุนยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการสนับสนุนตลาดทุนหลังมีการปรับคณะรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ
– ในเดือนพฤษภาคม 2567 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และ กลุ่มบริการ
– ในเดือนพฤษภาคม 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 มาอยู่ที่ 45,612 ล้านบาท แม้ว่าลดลง 17.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 16,566 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 25
– ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (SPREME) และใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. ไลท์อัพ โทเทิล โซลูชั่น (LTS)
– Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 14.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า
– อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 3.48% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.18%
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในเดือนพฤษภาคม 2567 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 393,053 สัญญา ลดลง 14.5% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 429,791 สัญญา ลดลง 21.6% จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มิ.ย. 67)
Tags: IMF, SET, SET Index, ตลท., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ศรพล ตุลยะเสถียร