สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) และกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ได้ร่วมกันจัดงานอบรม ” Enable ESG Bond Issuance Seminar: Workshop-Sustainable (ESG) Bond Issuance in Practice ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและหรือทางสังคมผ่านการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้กลุ่มความยั่งยืน (Green, Social, Sustainability Bond and Sustainability–linked Bond) ) และเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการออกหุ้นกู้กลุ่มความยั่งยืนเข้าใจถึงการดำเนินการในทางปฎิบัติ
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวถึงความร่วมมือและการสนับสนุนของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในตลาดเงินและตลาดทุน ในการส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศที่จะไปสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น และเน้นย้ำถึงจุดประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้ที่ต้องการให้ผู้เข้าอบรมได้เข้าใจกระบวนการของการออก ESG Bond ผ่านการเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ และการทำ workshop แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแต่ละธุรกิจแบบกลุ่ม เพื่อให้สามารถนำไปสู่การปฎิบัติจริงได้
Mr. Eugene Wong, CEO Sustainable Finance Institute Asia ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate change ซึ่งกลายเป็นวาระสำคัญของโลก โดยองค์ประกอบหลักของการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ในภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย อุปสงค์และอุปทาน การเปิดเผยข้อมูล การมี ASEAN Sustainable Finance Taxonomy และ มาตรฐานสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Transition Standards)
โดย ณ สิ้นปี 2023 ตลาดตราสารหนี้ ESG Bond ในภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าคงค้างมากกว่า 70,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวมากกว่า 5 เท่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วน 2.8% ของมูลค่าตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนั้นยังได้เน้นถึงหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่สำคัญของการออก ESG Bond ได้แก่ ICMA Sustainable Bond Principle, ASEAN Standards, ASEAN Taxonomy และ ASEAN Transition Finance Guidance ซึ่งการจัดให้มี ASEAN Standards จะสามารถสะท้อนบริบททางธุรกิจในอาเซียนที่อาจมีความแตกต่างจากในยุโรป โดย ASEAN Taxonomy จะช่วยให้ภูมิภาคอาเซียนมีมาตรฐานความยั่งยืนที่เทียบเคียงกันได้ในแต่ละประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาสินทรัพย์เพื่อความยั่งยืนของทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ผู้ออกมีทางเลือกในการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนโดยอ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและมีการรับรอง เช่น ASEAN Industry Target เป็นต้น ซึ่งผู้ออกสามารถทำความเข้าใจและพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อนำไปสู่โอกาสและความสำเร็จในการระดมทุน
นายยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์, Managing Director – Group Treasurer บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ได้กล่าวถึงกลยุทธด้านความยั่งยืนขององค์กร ได้แก่ การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน และการใช้แรงงานที่ถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งได้แบ่งปันประสบการณ์ในการจัดทำกรอบและหลักเกณฑ์ในการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan/Bond) ของบริษัท
โดยตัวอย่างการกำหนดตัวชี้วัดและตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ได้ดำเนินการในช่วงปี 2020-2022 (Blue Finance#1) ได้แก่ การขึ้นทะเบียนใน Dow Jones Sustainability Index (DJSI) Emerging Markets และ DJSI Food Products Industry Index Family, การลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope1 และ 2 (Carbon intensity) จากขบวนการผลิตทั้งหมดของบริษัท และการเพิ่มการตรวจสอบด้วยวิธีอิเล็คทรอนิกส์ และ/หรือมีผู้สังเกตการณ์ตรวจสอบบนเรือประมงปลาทูน่า เป็นต้น
และในระยะที่ 2 ในช่วงปี 2023-2025 (Blue Finance#2) ได้นำปัจจัยภายในเรื่องความยากง่ายในการทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย และความมีอยู่ของข้อมูลที่จะสามารถรวบรวมได้ร่วมด้วย จึงได้พิจารณาเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร 2 เรื่องหลัก คือ การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างมีความรับผิดชอบมาปรับปรุงตัวชี้วัดและตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope1 และ 2 แบบค่าสัมบูรณ์ (Absolute number) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 3 และการจัดหาปลาทูน่าจากแหล่งที่ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทั้งนี้ยังได้แบ่งปันความท้าทายและบทเรียนในการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนเป็นครั้งแรกของบริษัท ได้แก่ การเลือกตัวชี้วัดและตั้งเป้าหมายที่ท้าทายและเป็นไปได้ ลักษณะของตราสารหนี้ที่มีการปรับขึ้นลงอัตราดอกเบี้ย การรักษาสมดุลระหว่างผลตอบแทนในหุ้นกู้และความเสี่ยงของบริษัท และการมองหานักลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่เข้าใจนโยบายและแนวทางการดำเนินของบริษัทอย่างแท้จริง
Mr. Anuj Awasthi, Vice president Operation, Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) ได้กล่าวแนะนำองค์กรซึ่งจัดตั้งโดยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ASEAN+3 ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (Asian Development Bank หรือ ADB) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในภูมิภาค โดยมีหน้าที่หลักคือบริการให้การค้ำประกันการออกหุ้นกู้ที่ช่วยให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ของผู้ออกลดลง
โดย CGIF ได้รับการจัดอันดับเครดิตสากล AA/A-1+ โดย S&P ส่งผลให้หุ้นกู้ที่ค้ำประกันโดย CGIF จึงมีโอกาสได้รับอันดับเครดิตในประเทศสูงขึ้นถึง AAA ทั้งนี้ CGIF จะพิจารณาให้การค้ำประกันจากหลักเกณฑ์ดังนี้ (1) ผู้ออกต้องเป็นบริษัทในประเทศสมาชิก ASEAN+3 (2) ผู้ออกต้องมีอันดับเครดิตที่ยอมรับได้ (3) ผู้ออกต้องไม่นำเงินจากการระดมทุนไปใช้ในกิจกรรมต้องห้าม เช่น ผลิตอาวุธ สุรา ยาสูบ การพนัน เป็นต้น และ (4) ผู้ออกต้องจัดทำมาตรฐานการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย
นายกอบรัตน์ โชติเรืองประเสริฐ, Sustainability Assessor, DNV (Thailand) Co., Ltd. ได้กล่าวถึงบทบาทขององค์กรในการให้บริการ External review สำหรับการออก ESG bond ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุน โดยบริษัทจะทำงานร่วมกับผู้ออกตราสารหนี้ ช่วยเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มกระบวนการทวนสอบ โดยได้กล่าวถึงเอกสารที่จำเป็น ระยะเวลาในการทำงาน และค่าธรรมเนียมในการทวนสอบ อีกทั้งอภิปรายตัวอย่างของบริษัทที่เคยผ่านการทวนสอบในแต่ละขั้นตอนของ ESG bond แต่ละประเภท เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้เข้าอบรมได้เห็นแนวทางและนำไปปรับใช้ได้
นางสาวฝนทิพย์ ยุทธเสรี ที่ปรึกษา และนายโกสินทร์ พึงโสภณ ผู้เชี่ยวชาญภาคการเงินอาวุโส ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้กล่าวถึงตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน 2 ประเภท คือ ประเภทที่พิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้เงิน (Use of proceeds based) และประเภทที่เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (KPI based) และอธิบายถึงกระบวนการในการออก ESG bond แต่ละประเภทตั้งแต่เริ่มต้น ได้แก่ การคัดเลือกโครงการหรือสินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติ (Eligible project) ตามแนวทางหรือมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ เช่น ICMA Principle และ ASEAN Standards การจัดทำกรอบที่เหมาะสม (Sustainable Bond Framework) การยืนยันขั้นตอนการควบคุมภายใน การจัดทำรายงานการจัดสรรเงินและข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
โดยมีการอภิปรายกลุ่มสำหรับการจัดทำกรอบตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพิจารณาโครงการที่เกี่ยวข้องตามบริบทของแต่ละองค์กรเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการเริ่มต้นการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 มิ.ย. 67)
Tags: ThaiBMA, สมจินต์ ศรไพศาล, สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย