NOK คาดศาลฯนัดฟังคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูต้น ส.ค.64 หวังได้แหล่งทุนใหม่หนุน

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า คาดว่าศาลล้มละลายกลางน่าจะนัดฟังคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทได้ในช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้ หลังจากนั้นจะทำให้บริษัทได้รับแหล่งเงินใหม่ใส่เข้ามา โดยจะมาจากการเพิ่มทุนหลายพันล้านบาทในช่วง 5 ปีที่จะทยอยเดำเนินการ และมาจากวงเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมทั้งสถาบันการเงินที่ครอบครัวจุฬางกูรมีความสัมพันธ์อันดี

ทันทีที่แผนฟื้นฟูกิจการผ่านความเห็นชอบ บริษัทจะยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหลายฉบับที่จัดทำขึ้นในสมัยทีมบริหารชุดเดิม เช่น สัญญาซ่อมบำรุงเครื่องบิน ซึ่งขณะนี้บริษัทได้เจรจากับคู่สัญญาทุกรายแล้ว โดยการยกเลิกสัญญาเหล่านี้จะทำให้บริษัทสามารถปรับลดต้นทุนการบริหารจัดการได้อย่างมาก และสามารถที่แข่งขันกับสายการบินอื่นได้

ขณะเดียวกัน บริษัทจะทำการเพิ่มทุนเพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร และรักษากำลังคนซึ่งขณะนี้มีพนักงานเหลืออยู่ 1,400 คนจากก่อนเข้าแผนฟื้นฟู มีจำนวน 1,500 คน และเตรียมรับพนักงานสายการบินนกสกู๊ตเข้ามาเพิ่มด้วยรองรับเส้นทางต่างประเทศ

นอกจากนั้น บริษัทจะนำเงินเพิ่มทุนไปขยายฝูงบิน ในช่วง 5 ปีนี้เพื่อรองรับการขยายเส้นทางบินต่างประเทศ เริ่มปีนี้จะมี 6 ลำ เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ซึ่งช่วงแรกจะนำมาบินในประเทศ และเส้นทางใหม่กรุงเทพ-เบตง ซึ่งเป็นเส้นทางบินใหม่ หลังจากนั้นอีกในช่วง 4 ปีทยอยรับมอบปีละ 2-3 ลำ โดยเป็นการเช่าระยะเวลาประมาณ 4-6 ปี

แต่อย่างไรก็ดี ในปลายปี 65 จะเช่าเครื่องบินระยะสั้นมาก่อน 2 ลำ เพื่อประเมินตลาดต่างประเทศว่าเป็นอย่างไร

“เราเพิ่มเครื่องบินมา 6 ลำ เพื่อเอามาเตรียมบินเส้นทางต่างประเทศ คู่แข่งบินข้ามประเทศลดลง บางสายการบินใช้เครื่องบินลำใหญ่ไม่คุ้ม แต่เราใช้โบอิ้ง 737-800 จุผู้โดยสารได้ 189 คน และบินได้ 5-6 ชั่วโมง เราจะเริ่มบินไปเวียดนาม จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมที่เราบินอยู่ ตอนเปิดประเทศ คู่แข่งน่าจะลดไฟลท์ เราคิดว่าบินเต็มใช้เครื่องบินรุ่นนี้เหมาะสม 2 ปี”นายวุฒิภูมิ กล่าว

บริษัทจะเพิ่มเส้นทางบินที่สายการบินนกสกู๊ตเคยทำการบิน และเลือกเมืองที่มีการแข่งขันต่ำ อาทิ ไต้หวัน จีน ซึ่งกำลังดำเนินการขออนุญาตกับทางการจีนอยู่ ส่วนญีปุ่นเตรียมทำการบินที่ ฟูกูโอะกะ แต่ในส่วนโตเกียวและโอซาก้า มีการแข่งขันสูงแม้ว่าจะมีดีมานด์สูง โดยคาดว่าน่าจะเริ่มทำการบินได้ในไตรมาส 2/65 ที่มีการเปิดประเทศกัน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK ยังกล่าวว่า ในไตรมาส 1/65 คาดว่าน่าจะเห็นทำการบินที่ทำข้อตกลงกัน (Bubble) และเชื่อว่าในไตรมาส 2/65 น่าจะเปิดประเทศเต็มตัว โดยเฉพาะในไตรมาส 3/65 จีนจะกลับมาเปิดประเทศกลางปี 65 ก็คาดว่า จำนวนผู้โดยสารน่าจะกลับมาไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยอิงนักท่องเที่ยวจีนราว 70% ส่วน NOK มีสัดส่วนลูกค้าจีน 10% ของยอดขาย

“ตลาด (การบิน) เปลี่ยนแปลงแน่นอน ผู้โดยสารน่าจะลดไปพอสมควร กว่าจะ Recover กลับมา ก็ต้องดูนโยบายภาครัฐที่จะสนับสนุนอย่างไร หรือการลงทุนภาครัฐที่ทำให้มีการเดินทางข้ามจังหวัด ข้ามประเทศ กว่าจะกลับมาน่าจะเป็นปลายปี 67”

นายวุฒิภูมิ กล่าวอีกว่า ในไตรมาส 4/64 ธุรกิจก็ยังไม่ได้สดใสมาก โดยคาดว่าจะมี Cabin Factor อยู่ที่ 60% ทั้งที่เป็นช่วงไฮซีซั่น เนื่องจากการกระจาสยวัคซีนยังไม่ได้ตามแผน ขณะเดียวกันบริษัทยังพอมีกระแสเงินสดพอสมควร โดยมีวงเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นใหญ่ ราว 300-400 ล้านบาท และกำลังขอขยายวงเงินกู้อยู่ซึ่งกำลังพูดคุยกันอยู่
สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ห้ามทำการบินเข้าออกพื้นที่สีแดงเข้มซึ่งรวมกรุงเทพ ทำให้สนามบินดอนเมืองปิดทำการนั้น นายวุฒิภูมิ กล่าว่ว่า จากคำสั่งที่ไม่ให้นำผู้โดยสารบินเข้าออกได้ ทำให้ค่าขนส่งทางอากาศ (Cargo) ปรับตัวสูงขึ้น จากเดิมที่มีการขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยต้นทุนการขนส่ง ส่งผลให้การขนส่งสินค้าทางการเกษตรสูงขึ้นจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

อีกทั้งยังทำให้ผู้ที่ต้องรับการรักษาตัวหรือรับการผ่าตัดในกรุงเทพไม่สามารถเดินทางได้ ดังนั้น จึงได้ยื่นเรื่องไปยัง กพท.ให้ผู้เดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว สามารถทำการบินได้ โดยให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Rapid test ที่สนามบิน หรือตรวจก่อน 1-2 วันพร้อมใบรับรอง หรือผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ให้ตรวจหาเชื้อเช่นกัน ถ้าไม่พบเชื้อก็สามารถเดินทางได้

ขณะที่ NOK ได้เปิดเส้นทางที่อู่ตะเภาแทนดอนเมืองเพื่อช่วยขนส่งผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องเดินทางมากรุงเทพ เช่นนัดผ่าตัด หรือขนส่งอวัยวะ ลิ่มเลือด ซึ่งหากมีความต้องการมากขึ้นก็สามารถเพิ่มความถี่การบินได้

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า คำสั่งที่รัฐบาลให้จำกัดจำนวนผู้โดยสาร 50% เพื่อเว้นระยะห่างนั้น ทำให้ต้นทุนทำการบินสูงขึ้นเท่าตัว จึงขอเสนอให้ปรับมาเป็น 70% น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะอากาศภายในเครื่องบินมีระบบกำจัดกรองเชื้อโควิด และมีการถ่ายเทอากาศไม่เหมือนรถปรับอากาศ หากไม่ได้รับการปรับอาจทำให้มีความจำเป็นต้องขึ้นราคาค่าตั๋วโดยสารราว 25% ไม่เช่นนั้นสายการบินก็จะอยู่ไม่ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,