โกลบอล เอเนอร์จี มอนิเตอร์ (Global Energy Monitor) หรือ GEM บริษัทวิจัยด้านพลังงานของสหรัฐ เปิดเผยในวันนี้ (30 พ.ค.) ว่า ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังวางแผนทุ่มเม็ดเงินลงทุนมากถึง 2.2 แสนล้านดอลลาร์ในโครงการเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ภูมิภาคนี้เปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดได้ช้ากว่าที่อื่น
ข้อมูลของ GEM ระบุว่า หากมีการดำเนินการในทุกโครงการที่วางแผนไว้ กำลังการผลิตก๊าซของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 กิกะวัตต์ (GW) หรือเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวของระดับปัจจุบัน และทำให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้าสู่ภูมิภาคเพิ่มขึ้น 80%
วาร์ดา อาแจซ ผู้ดูแลโครงการติดตามการใช้ก๊าซในเอเชียของ GEM ระบุว่า “ความต้องการพลังงานกำลังเพิ่มขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซไม่ใช่ทางแก้ปัญหาในระยะยาว” และเสริมว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่สามารถตอบสนองด้วยพลังงานหมุนเวียนได้ จึงควรหันไปใช้พลังงานสะอาดให้มากกว่านี้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ปัจจุบันบริษัทมากกว่า 1,000 แห่งกำลังก่อตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซแห่งใหม่ทั่วโลก โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 65% กำลังถูกสร้างขึ้นในเอเชีย
GEM ระบุว่า เพียงเวียดนามประเทศเดียวก็มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซอยู่ระหว่างการพัฒนามากถึง 44 GW ทั้งยังมีขีดความสามารถรองรับการนำเข้าก๊าซ LNG ราว 12.1 ล้านตันต่อปี โดยก๊าซธรรมชาติเป็นที่นิยม เพราะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องพึ่งพาถ่านหินที่สกปรกและปล่อยคาร์บอนสูง
ทั้งนี้ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) กล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ความต้องการก๊าซธรรมชาติจะต้องลดลงจากมากกว่า 4 ล้านล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2565 เหลือ 3.4 ล้านล้านภายในสิ้นทศวรรษนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 67)
Tags: ก๊าซธรรมชาติ, พลังงานหมุนเวียน