คมนาคม วางกรอบประมูลแลนด์บริดจ์ปลายปี 68 มั่นใจต่างชาติแห่ร่วม-เร่งดันกม.SEC เข้า ครม.

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดงานการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพฒนาการลงทุน (Business Development Model) ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge)

รมช.คมนาคม กลาวว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทย เป็นการเปิดประตูการค้าโลก วันนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชนเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อประเมินศักยภาพตลาด และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ อาทิ สายเดินเรือ ท่าเรือ รวมถึงสถานฑูตต่างๆที่เข้าร่วมรับฟัง รวมถึงทางออนไลน์ด้วย

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor:SEC) ที่ครอบคลุม 4 จังหวัดได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งในส่วนนึ้กระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการร่างพ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่จะเร่งรัดผลักดันให้เกิดภายใน 1 ปี โดยคาดว่าจะนำร่างพ.ร.บ. SEC สรุปส่งให้คณะรัฐมนตรีภายในเดือน ก.ย.นี้ และนำสู่การพิจารณาของสภาที่จะเร่งรัดให้มีการพิจารณาให้แล้วเสร็จ

ร่างพ.ร.บ. SEC ได้ถอดแบบมาจากเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน และจะมีการจัดตั้งสำนักงาน SEC และคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ในขณะเดียวกันก็เดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์คู่ขนานกันไป ที่หลังจากวันนี้ที่มารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนเพิ่มเติม

นางมนพร กล่าวว่า จากที่ลงพื้นที่ระนองและชุมพร พบว่าส่วนที่เป็นที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งได้ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยในการออกบัตรประชาชนเพื่อใช้แสดงในโฉนดทีดิน และรัฐจะเวนคืนจ่ายค่าชดเชยให้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำลังทำการสำรวจอยู่

ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะเปิดให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาประมูลโครงการแลนด์บริดจ์ มูลค่า 1 ล้านล้านบาท โดยจะให้รายเดียวเป็นผู้บริหารโครงการทั้งท่าเรือ 2 ฝั่ง (ชุมพรและระนอง) มอเตอร์เวย์ และรถไฟ เพื่อให้การทำงานทำได้อย่างคล่องตัว ซึ่งคาดว่าจะมีการร่วมลงทุนจากทั้งนักลงทุนต่างประเทศและไทย โดยจะให้สิทธิการบริหาร 50 ปี และนักลงทุนต่างชาติสามารถร่วมลงทุนได้มากกว่า 50% อย่างไรก็ตามคาดว่า เอกชนน่าจะต้องการสิทธิบริหารมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

หลังจากดำเนินการ Market Sounding ในวันนี้แล้ว สนข.จะรวบรวมความเห็นของเอกชน จากนั้นก็จะจัดทำร่างทีโออาร์ ประกวดราคาโครงการ สนข.คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปลายปี 68 หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.SEC เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แล้วและดำเนินการจัดตั้งสำเร็จ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยในการเวนคืนที่ดินอาจใช้งบประมาณในปี 69 ประกอบกับการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้

โครงการแลนด์บริดจ์ แบ่งดำเนินการเป็น 3 เฟส โดยเฟสแรกจะก่อสร้างท่าเรือ 2 ฝั่ง ขนาดรองรับตู้สินค้า 6 ล้าน TEUs มอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างสองฝั่ง และรถไฟ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2573 ส่วนเฟสสอง จะก่อสร้างท่าเรือ 2 ฝั่งเพิ่มขนาดท่าเรือรองรับเพิ่มเป็น 12 ล้าน TEUs แล้วเสร็จในปี 82 และเฟส 3 จะเพิ่มขนาดท่าเรือรองรับเพิ่มเป็น 20 ล้านTEUs

ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เดินทางไปโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ มาแล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งต่างก็ให้ความสนใจในโครงการนี้ และได้มีเอกชนของจีน ญี่ปุ่น และจากดูไบ ลงพื้นที่เพื่อไปสำรวจพื้นที่โครงการแล้ว

  • แลนด์บริดจ์จะเป็น Game Changer

นายกิตติ ลิ่มสกุล ที่ปรึกษา คณกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาพื้นที่ SEC จะช่วยยกระดับการผลิต การเกษตร การพัฒนาพืชสัตว์เศรษฐกิจ การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร โดยการสร้างพื้นที่ SEC จะทำให้ไทยเป็น Hubการเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลเช่นเดียวกับช่องแคบมะละกา การเชื่อมโยงแนทาง BRI หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จากจีนตอนใต้ ผ่านเชียงราย เชียงของไปสู่ภาคใต้ และหากเกิดปัญหาความชัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ พื้นที่ SEC จะได้รับประโยชน์ และจะทำให้ภาคใต้มีศักยภาพการเติบโต

โครงการแลนด์บริดจ์ เป็น Game Changer สร้างประเทศไทยเป็น Hub แห่งหนึ่งของโลก ซึ่งไทยมีโอกาสกลายเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของโลกได้

นายกิตติ กล่าวว่า ไทยจะเป็นที่สนใจจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะการลงทุนจะเปลี่ยนโฉมหน้าการค้า การลงทุนในภูมิภาคและโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นการเสริมท่าเรืออื่น ทั้งในสิงคโปร์ และมาเลเซีย

“10 กว่าปีที่ผ่านมาไม่มีโครงการใหญ่ โครงการทวายก็ไม่ตอบโจทย์ จึงมองว่าน่าจะมีโครงการใหญ่ตอบรับ หรือเสริมกับสิ่งที่มีอยู่ ไม่ได้ไปเทียบกับท่าเรือสิงคโปร์ … เราไม่ใช่คู่แช่งสิงคโปร์ แต่เพียงดึงผลประโยชน์บางส่วนเข้ามาไทย”

นายกิตติ กล่าวว ขนาดการลงทุนที่มีการสร้างท่าเรือ 2 ท่าเรือ ระบบถนน ระบบราง รวมประมาณการ 1.45 ล้านล้านบาท และต้นทุนการบริหารท่าเรือ ทางเชื่อมและการพัฒนาพื้นที่ ประมาณ 6.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้และต้นทุนมีอัตราส่วนที่ได้ผลประโยชน์ราว 1.32 เท่า ก็ถือว่ามีความเป็นไปได้ในการลงทุน

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ มีแผนการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยระยะแรกจะมี 4 ช่องจราจร ทางรถไฟ ขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จ้านวน 2 ทาง ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack) ทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร

(Meter Gauge) จ้านวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม.

การเชื่อมโยงสำหรับการบริหาร Two-Ports Single Operation System จะมีทางระดับดินยาวประมาณ 39.5 กิโลเมตร สะพานยาวประมาณ 30 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่ส้าหรับวางท่อขนส่งน้ามันส้าเร็จรูปและแก๊สธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่ง น้ามันและแก๊สธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการและชุมชนทั้ง 2 ฝั่ง ของโครงการสามารถเดินทางถึงกันด้วยสะพานลอย และทางลอดข้ามโครงการแลนด์บริดจ์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 67)

Tags: , , , , , ,