นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวล หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบปรับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) โดยมีการเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 อีก 1.22 แสนล้านบาท
ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง และการจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะหนี้สาธารณะที่ใกล้จะเต็มเพดานที่ 70% และภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจะทำให้ไม่มีช่องในการรับมือหากเกิดวิกฤติ ว่า มองว่าเป็นคำเตือนที่ดี และพร้อมที่จะรับไปพิจารณาอย่างละเอียด
“ก็ต้องเทียบระหว่างว่าไม่ทำอะไรเลย กับทำบ้าง อันไหนจะได้ผลดีกว่า หากไม่ทำอะไรเลย เงินคงคลังคงไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่หากทำบ้างแล้ว ผลอื่นๆ จะได้เป็นอย่างไร ก็ยอมรับว่าเป็นคำเตือนที่ดี เราพร้อมจะรับไปดูอย่างละเอียด โดยเฉพาะในแง่ของเงินคงคลัง และเสถียรภาพด้านการคลัง แต่ไม่ได้รู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อหนี้สาธารณะว่าจะชนเพดานที่ 70% โดยระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบัน ยังอยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดการได้ในกรอบ 4-5 ปีข้างหน้า” นายพิชัย ระบุ
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวด้วยว่า เร็ว ๆ นี้กระทรวงการคลังจะหารือร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ถึงแนวทางและหลักเกณฑ์ในการฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อกระตุ้นให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยหากทาง FETCO พร้อมก็สามารถนัดมาได้ทันที เพราะกระทรวงการคลังมีความพร้อมอยู่แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 67)
Tags: งบประมาณ, งบประมาณรายจ่าย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., พิชัย ชุณหวชิร, หนี้สาธารณะ