รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (24 พ.ค.) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core Inflation) ของญี่ปุ่นชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนเม.ย. เนื่องจากเงินเฟ้อจากราคาอาหารชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ระดับ 2%
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 2.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมี.ค.ที่ปรับตัวขึ้น 2.6% และสอดคล้องกับที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้
ส่วนดัชนี Core-Core CPI ซึ่งไม่รวมราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารสด และเป็นข้อมูลที่ BOJ กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มเงินเฟ้อในวงกว้างนั้น ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนเม.ย. ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมี.ค.ที่เพิ่มขึ้น 2.9%
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อมูลเงินเฟ้อถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ BOJ ใช้ประกอบการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคณะกรรมการ BOJ ตั้งเป้าที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่ได้ประกาศยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมเดือนมี.ค. ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษที่ใช้มานานหลายสิบปี
BOJ ระบุว่า การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% และการทำให้ค่าจ้างขยายตัวอย่างยั่งยืนนั้น เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ
ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ กระแสคาดการณ์ที่ว่า BOJ จะใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินในปีนี้ได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2556
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 67)
Tags: ญี่ปุ่น, รัฐบาลญี่ปุ่น, อัตราดอกเบี้ย, เงินเฟ้อ