จากกรณีบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด (TSB) ขอเพิ่มหรือปรับเส้นทางเดินรถจำนวน 36 เส้นทาง ซึ่งมีความทับซ้อนกับเส้นทางของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั้น
นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารขสมก.เพื่อฟังความเห็น และวันที่ 17 พ.ค. ได้ประชุมร่วมกับสหภาพฯและพนักงานขสมก. โดยทั้งหมดมีความเห็นคัดค้าน ที่เอกชนจะมาวิ่งทับเส้นทาง ซึ่งจะรวบรวมข้อมูล ผลกระทบ และความเห็นของทุกฝ่ายเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด ขสมก.) ในวันที่ 30 พ.ค. 2567 ก่อนตอบกลับ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อย่างไรก็ตาม ได้รายงานรมช.คมนาคมแล้ว ซึ่งได้ให้ขสมก.ยืนบนหลักการทำหน้าที่บริการประชาชน
การที่เอกชนขอปรับเส้นทางมาทับซ้อน กับ ขสมก. 36 เส้นทาง นั้น จะกระทบต่อการตั้งอยู่ หรือดับไปของขสมก.เพราะ 36 เส้นทางเป็นเส้นทางหลัก ที่มีรายได้ และจะกระทบการบริหารจัดการเดินรถตามแผนปฎิรูปรถเมล์ และแผนขับเคลื่อน (แผนฟื้นฟูฯขสมก.) ซึ่งทำให้ประชาชนหรือผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินการดังกล่าว ได้แก่
1.เดือดร้อนด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น ทำให้ขาดความเท่าเทียมในการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่มีรายได้น้อย
2. การทับซ้อนเส้นทางดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแผนปฎิรูป ที่มีวัตถุประสงค์ปรับปรุงโครงข่ายเดิมให้เหมาะสมกับการเดินรถในเขตเมืองที่มีการจราจรแออัด ลดความซ้ำซ้อนของเส้นทาง ลดระยะทางให้สั้นลง
นอกจากนี้ ขสมก.ได้จัดทำโครงการจัดหารถใหม่พลังงานสะอาดเพื่อนำมาให้บริการ ใน 107 เส้นทางตามแผนปฎิรูป ซึ่งภายในปีนี้ อย่างช้าไม่เกินกลางปี 68 จะมีรถเมล์ใหม่ รวมไปถึงการปรับโครงสร้างบุคลากรและด้านอื่นๆ เพื่อปรับปรุงยกระดับการให้บริการ
นอกจากนี้ ทางสหภาพฯขสมก. ได้มีการประชุมล่าสุด วันที่ 21 พ.ค. 2567 และทำหนังสือยื่นประธานบอร์ดขสมก.เพื่อคัดค้านการวิ่งทับเส้นทางของเอกชนและขอให้ยึดตามแผนปฎิรูปฯ และต้องไม่ทำอะไรที่กระทบต่อสิทธิ์ของผู้ประกอบการรายอื่น นอกจากนี้ จะทำหนังสือยื่นนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านต่อไป
ด้านนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กล่าวว่า เรื่องนี้ ได้มอบหมายให้ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หารือกับ กรมการขนส่งทางบก และทางคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางต้องเข้ามาดูแล ส่วนนโยบายของกระทรวงคมนาคมนั้น ให้ยึดระเบียบและผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐเป็นหลัก กรณีที่เอกชนจะขอเพิ่มเส้นทางจากที่กำหนดไว้ในแผนปฎิรูป ต้องดูว่า ระเบียบทำได้หรือไม่ ซึ่งทางผอ.ขสมก.ได้มีการประชุมร่วมกับสหภาพฯขสมก.และพนักงานทั้งหมดแล้ว และสิ่งที่ต้องตระหนักคือ ขสมก.เป็นหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย และมีค่าโดยสารเริ่มต้น 8 บาท เป็นรถเมล์ขวัญใจคนจน ส่วนรถไทยสมายล์บัส ประชาชนต้องแบกรับค่าโดยสารเพิ่ม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 67)
Tags: TSB, กิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล, ขสมก., ไทยสมายล์บัส