เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 พ.ค.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ลงนามออกกฎหมายห้ามการนำเข้ายูเรเนียมจากรัสเซีย โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน
การลงนามกฎหมายครั้งนี้ยังช่วยปลดล็อกเงินทุนจำนวน 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส เพื่อเพิ่มปริมาณยูเรเนียมในประเทศสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐ โดยการจัดสรรเงินทุนจำนวนดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ารัฐบาลกลางต้องจำกัดการนำเข้ายูเรเนียมจากรัสเซีย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การระงับนำเข้ายูเรเนียมจากรัสเซีย ซึ่งมีขึ้นในขณะที่การรุกรานยูเครนของรัสเซียเข้าสู่ปีที่ 3 สร้างความเสี่ยงหลายประการ โดยข้อมูลของกระทรวงพลังงานสหรัฐระบุว่า รัสเซียเป็นแหล่งเชื้อเพลิงจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ โดยส่งมอบยูเรเนียมประมาณ 1 ใน 4 ที่ใช้ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ของสหรัฐที่ผลิตกระแสไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน นายโจนาธาน ฮินเซ่ ประธานบริษัทวิจัยตลาดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ยูเอ็กซี (UxC) กล่าวว่า รัสเซียทำรายได้ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจากการขายยูเรเนียมเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้การระงับดังกล่าวจึงอาจส่งผลให้ราคายูเรเนียมเพิ่มขึ้น 20%
อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวมอบอำนาจให้กระทรวงพลังงานสหรัฐอนุมัติการยกเว้นการนำเข้ายูเรเนียมจากรัสเซียได้จนถึงปี 2571 หากไม่สามารถหายูเรเนียมได้จากแหล่งอื่น หรือหากการนำเข้าดังกล่าวได้รับการพิจารณาว่าเป็นประโยชน์ต่อชาติ
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะดำเนินมาตรการตอบโต้ โดยเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เทเน็กซ์ (Tenex) ผู้ผลิตยูเรเนียมของรัฐบาลรัสเซีย ออกโรงเตือนลูกค้าสหรัฐว่า รัสเซียอาจระงับการส่งออกเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ไปยังสหรัฐ หากฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายระงับการนำเข้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 67)
Tags: ยูเรเนียม, รัสเซีย, สหรัฐ, โจ ไบเดน