ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศญี่ปุ่นลดฮวบในเม.ย. เหตุจากมูลค่าหลักทรัพย์ลดลง

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเดือนเม.ย.ของญี่ปุ่นลดลง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 1.14 ล้านล้านดอลลาร์ โดยการปรับตัวลงส่วนใหญ่สะท้อนถึงการลดลงของมูลค่าหลักทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศที่ญี่ปุ่นถือครองอยู่ ไม่ใช่การปรับตัวลงเพราะรัฐบาลนำเงินทุนสำรองไปใช้ในการแทรกแซงตลาด

ข้อมูลของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นระบุว่า ยอดการถือครองหลักทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศลดลงสู่ระดับ 9.78 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. จากระดับ 9.95 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. โดยคาดว่าเป็นผลมาจากมูลค่าตลาดของสินทรัพย์ในต่างประเทศปรับตัวลดลง ซึ่งรวมถึงพันธบัตร อันเนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น

การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมีขึ้นหลังจากมีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาด 2 ครั้งเพื่อพยุงค่าเงินเยน โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเม.ย. และคาดว่าอาจจะไม่มีการบันทึกในข้อมูลทุนสำรองจนกระทั่งต้นเดือนพ.ค.

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นพยายามหลีกเลี่ยงการยืนยันว่าได้ดำเนินการแทรกแซงตลาดหรือไม่ โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ทำการวิเคราะห์ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของธนาคารกลางญี่ปุ่นซึ่งก็พบว่า ญี่ปุ่นอาจจะเข้าแทรกแซงตลาด 2 ครั้งในสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยการเข้าซื้อเงินเยนประมาณ 6.2 ล้านล้านเยน (4 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งถือเป็นการดำเนินการในระยะแรก โดยวิเคราะห์จากข้อมูลล่าสุดและการประมาณการของโบรกเกอร์ด้านการเงิน

ทสึโยชิ อูเอโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย NLI กล่าวว่า “หากมีการแทรกแซงตลาดในวันที่ 29 เม.ย. วันชำระราคาก็ควรจะเป็นวันที่ 1 พ.ค. ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเดือนเม.ย.จะไม่ได้สะท้อนถึงการแทรกแซงตลาด”

ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นจะใช้กลยุทธ์การไม่เปิดเผยว่ารัฐบาลได้เข้าแทรกแซงตลาดหรือไม่ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต้องใช้วิธีการคาดเดาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในตลาด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 67)

Tags: ,