นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย นำผู้แทนสมาคม/ชมรมที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกุ้ง ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เป็นต้น เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เพื่อขอให้เร่งส่งเสริมการตลาด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งไทย โดยมีนายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับจดหมาย
ทั้งนี้ ได้นำเสนอเรื่องเร่งด่วน รวม 3 ข้อ ได้แก่
1. มาตรการการส่งเสริมการตลาด ได้แก่
– การส่งเสริมการบริโภคในประเทศ ขอให้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การบริโภคกุ้ง เพื่อประชาสัมพันธ์ในพื้นที่สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ สถานีรถไฟฟ้า โดยทำแคมเปญส่งเสริม “การบริโภคกุ้งไทย” รวมถึงร่วมกับภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือโรงแรม ในการจัดการส่งเสริมการบริโภคกุ้ง
– ด้านการส่งออก จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ขยายส่วนแบ่งในตลาดเดิม และเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความเชื่อมั่นในสินค้ากุ้งไทย และมีโอกาสในการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการนำผู้ส่งออกร่วมออกพาวิลเลียนในงานแสดงสินค้าสำคัญๆ เช่น งาน China Fisheries & Seafood Expo 2024 (Qingdao), World Seafood Shanghai (SIFSE), Fishery & Seafood Expo-Fishex Guangzhou
– เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป โดยขอให้สหภาพยุโรปลดภาษีสินค้ากุ้งเป็น 0% ทันที โดยตั้งแต่สินค้ากุ้งถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่ปี 57 ทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราสูงมาก ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่ได้สิทธิ GSP และประเทศที่ได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งที่สหภาพยุโรปเป็นตลาดใหญ่ที่มีการนำเข้าปีละประมาณกว่า 700,000 ตัน และในช่วงที่ประเทศไทยได้รับสิทธิ GSP สหภาพยุโรปนำเข้าจากประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 50,000 ตัน แต่หลังจากที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ทำให้ไทยส่งออกกุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรปเฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 ตัน ในขณะที่สหภาพยุโรปนำเข้ากุ้งสามอันดับแรก ได้แก่ เอกวาดอร์ อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี และได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านการแข่งขันโดยสิ้นเชิง
2. การลดต้นทุนการผลิต เสนอให้ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบการผลิตอาหารกุ้ง ปัจจุบันไทยพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักได้แก่ กากถั่วเหลือง และปลาป่น โดยกากถั่วเหลืองมีอัตราภาษีนำเข้าในอัตรา 2% สำหรับการนำเข้าปลาป่น รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะปลาป่นที่มีโปรตีนสูงกว่า 60% โดยมีอัตราภาษีสูงสุดที่ 15%
นอกจากนี้ รัฐบาลเปลี่ยนแปลงประกาศการนำเข้ากากถั่วเหลืองจากคราวละ 3 ปี เป็น 1 ปี ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอน และขาดความต่อเนื่องในการนำเข้า จึงขอเสนอให้ปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองและปลาป่น เป็น 0 รวมถึงอนุญาตให้นำเข้าคราวละ 3 ปีเช่นเดิม การลดภาษีดังกล่าว จะเป็นการลดต้นทุนการเลี้ยงให้กับภาคเกษตรกร
3. การแก้ปัญหาโรคกุ้ง ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้การเลี้ยงไม่ประสบความสำเร็จ และส่งผลทำให้ต้นทุนสูงจนไม่สามารถแข่งขันได้ จึงขอเสนอให้นายภูมิธรรม ในฐานะที่ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาจัดสรรงบประมาณในการศึกษาวิจัยหาสาเหตุและแนวทางการจัดการเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านจุลินทรีย์ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อการวิจัยและคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแต่ละพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องโรคและการจัดการบ่ออย่างมีประสิทธิภาพ
“หากข้อเสนอที่นำเสนอทั้งหมดได้รับการดำเนินการแก้ไขจากภาครัฐอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตกุ้งและลดต้นทุนการผลิตให้สามารถกลับมาแข่งขันในตลาดโลกได้อีกครั้ง เนื่องจากกุ้งไทยยังคงมีจุดแข็งในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร ปราศจากสารตกค้าง และมีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงความสามารถของห้องเย็นแปรรูปส่งออก ที่มีศักยภาพในการผลิต ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้กุ้งไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และกลับมาเป็นสินค้าส่งออกหลักที่นำรายได้เข้าประเทศได้ปีละมหาศาลต่อไป” นายเอกพจน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 67)
Tags: สมาคมกุ้งไทย, อุตสาหกรรมกุ้ง, เอกพจน์ ยอดพินิจ