ฟิทช์ คงอันดับเครดิต MST ที่ AA(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ AA(tha) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ F1+(tha) ของ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) (MST) โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

อันดับเครดิตมีปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น: อันดับเครดิตของ MST พิจารณาจากความคาดหวังของฟิทช์ว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) จากธนาคารแม่ที่เป็นผู้ถือหุ้นสูงสุด ซึ่งคือ Malayan Banking Berhad (หรือ Maybank) ในกรณีที่มีความจำเป็น ฟิทช์มองว่าอันดับเครดิตของ Maybank มีความแข็งแกร่งกว่าโครงสร้างเครดิตที่พิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของ MST และเชื่อว่าการสนับสนุนใดๆจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธนาคารแม่ อันดับเครดิตของบริษัทยังสะท้อนถึงการพิจารณาเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟิทช์

เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์: ฟิทช์ยังคงเชื่อว่า MST เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในการสนับสนุนเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของ Maybank ในการเป็นผู้นำที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครอบคลุม ในภูมิภาคอาเซียน เครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งของ MST ในธุรกิจหลักทรัพย์และบริหารจัดการการลงทุนในประเทศไทย ยังช่วยส่งเสริมธุรกิจของธนาคารแม่ในภูมิภาคอาเซียน

อย่างไรก็ตาม MST มีขนาดธุรกิจและผลประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ได้มีนัยสำคัญมากนักเมื่อเทียบกับขนาดของกลุ่มธนาคารแม่ โดยบริษัทมีสัดส่วนสินทรัพย์และรายได้น้อยกว่า 1% ของกลุ่ม ณ สิ้นปี 2566

มีการร่วมมือและกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง: ธนาคารแม่มีสัดส่วนการถือหุ้นใน MST ที่ 83.5% และมีอำนาจในการกำกับดูแลกิจการผ่านคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ ทางกลุ่มบริษัทแม่ยังคงมีการกำกับดูแลและมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจของ MST ในแง่ของการวางกลยุทธ์ในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับธนาคารแม่และการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการความเสี่ยง อีกทั้งยังมีการร่วมมือกันในด้านการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระหว่าง MST และกลุ่มบริษัทแม่ รวมไปถึงการสนับสนุนด้านการระดมเงินทุน (funding) ซึ่งฟิทช์คาดว่าความร่วมมือดังกล่าวจะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

มีความเชื่อมโยงระหว่างกันด้านชื่อเสียง: อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการเชื่อมโยงด้านชื่อเสียงระหว่าง MST และกลุ่มบริษัทแม่ โดยทั้งสองบริษัทมีการใช้ชื่อร่วมกันและมีโครงสร้างการถือหุ้นเชื่อมโยงกัน ฟิทช์เชื่อว่า ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ Maybank อาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านชื่อเสียงได้ หาก MST ต้องประสบกับความยากลำบากทางการเงิน

การดำเนินธุรกิจที่พึ่งพาสภาวะตลาดหลักทรัพย์: ธุรกิจของ MST มีการพึ่งพาสภาวะตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างมาก ซึ่งจำกัดโครงสร้างเครดิตจากการพิจารณาความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตของบริษัทที่พิจารณาจากการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงสามารถทำกำไรได้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาและฟิทช์เชื่อว่าเครือข่ายธุรกิจ (franchise) ที่แข็งแกร่งของทั้ง MST และ Maybank น่าจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการหารายได้ของบริษัทได้ในระยะกลาง

ยังมีความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม: อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อส่วนผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (operating profit/average equity) ที่ 9.3% และ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 7.6% ของ MST ในปี 2566 ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม (ค่าเฉลี่ยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 3.1%) แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ท้าทาย จากภาวะตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่ซบเซาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลง (ลดลง 29% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)

โครงสร้างเงินทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่: ฟิทช์เชื่อว่าโครงสร้างการระดมเงินทุนของ MST ได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทมีความสามารถเพียงพอที่จะระดมเงินทุนผ่านตลาดทุนภายในประเทศ รวมทั้งยังมีวงเงินกู้จากธนาคารซึ่งได้รับการสนับสนุนจากความสัมพันธ์ของกลุ่ม นอกจากนี้ธนาคารแม่ยังให้การสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบของวงเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทในกลุ่ม (intra-group liquidity lines) และเงินกู้ยืมประเภทด้อยสิทธิ อีกด้วย ซึ่งจะช่วยรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนด้านผลประกอบการและสภาพคล่องในตลาดที่อาจเกิดขึ้นได้

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน): การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ หากโครงสร้างเครดิตของธนาคารแม่และความสามารถในการให้การสนับสนุนแก่บริษัทลูกมีการปรับตัวลดลง

ทั้งนี้การปรับอันดับเครดิตจะพิจารณาเปรียบเทียบโครงสร้างเครดิตที่มีปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ MST กับสถาบันการเงินรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วยเช่นกัน

การปรับตัวลดลงของโอกาสที่ Maybank จะให้การสนับสนุนแก่ MST ก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทด้วยเช่นเดียวกัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ธนาคารแม่ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นลงต่ำกว่า 75% ควบคู่ไปกับการลดระดับอำนาจในการควบคุมด้านการบริหารจัดการของธนาคารแม่ ระดับความเชื่อมโยงด้านการดำเนินงาน หรือความร่วมมือด้านธุรกิจระหว่างกัน อย่างไรก็ตามฟิทช์ไม่คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้นถึงระยะกลาง

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ MST ไม่น่าจะถูกปรับลดอันดับ เว้นแต่ในกรณีที่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทถูกปรับลดอันดับลงไปที่ A+(tha) หรือ ต่ำกว่า

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ MST อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต หากธนาคารแม่มีโครงสร้างเครดิตที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งบ่งชี้ถึงความสามารถในการให้การสนับสนุนแก่บริษัทลูกในระดับที่เพิ่มขึ้น

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนแก่บริษัทลูกในประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หาก MST กลายเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเครือข่ายธุรกิจของธนาคารแม่ เช่น การมีขนาดธุรกิจและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกลุ่ม

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต เนื่องจากอันดับเครดิตอยู่ในระดับสูงสุดของอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น อันดับเครดิตของ MST มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างเครดิตของ Maybank

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 67)

Tags: , , , ,