ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ในช่วงกลางปี 2569 จะส่งผลให้ภาคการเงินการธนาคารไทยมีการแข่งขันกันรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยจะเกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่เพื่อเจาะตลาดลูกค้าเป้าหมาย แต่จะเป็นลูกค้ากลุ่มใดขึ้นอยู่กับการตีกรอบเงื่อนไขการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) เพื่อให้ธนาคารไร้สาขาสามารถออกแบบโมเดลธุรกิจที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีฟีเจอร์แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ปัจจุบัน ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่ทางการต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงจึงจะส่งผลดีต่อพัฒนาการของภาพรวมของระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่หลากหลายและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากขึ้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ผู้เล่นในตลาดประสบความสำเร็จ เช่น นำเสนอดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ระยะเวลาในการฝากประจำสั้นลง และคิดอัตราดอกเบี้ยเป็นรายวัน ร่วมกับมีลูกเล่นทางการตลาดหรือให้สิทธิประโยชน์พิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อดึงดูดเงินออม อย่างในต่างประเทศมีการให้โบนัสพิเศษเมื่อลูกค้าฝากเงินได้ครึ่งทางหรือเมื่อครบกำหนด การแบ่งเงินออมในบัญชีเป็น Pocket ตามวัตถุประสงค์ การแจกสติ๊กเกอร์หรือตัวการ์ตูนดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะหรือมีจำกัด การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงดิจิทัลด้วยการป้อนเงินฝากเป็นอาหาร การฝากเงินเพื่อสนับสนุนศิลปินหรือสมาชิกในวงไอดอลที่กำลังออดิชั่น
ผลิตภัณฑ์สินเชื่อจะมีความยืดหยุ่นและข้อเสนอที่ดีกว่าเดิม เช่น ดอกเบี้ยลดลง มีกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่เร็วขึ้น รวมถึงลดเงื่อนไขด้านคุณสมบัติของผู้กู้ ไม่ว่าจะเป็นอายุหรือรายได้ เป็นต้น เพื่อแย่งชิงฐานลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม (Underserved) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเดียวกับธนาคารพาณิชย์ในปัจุบัน กรณีนี้ WeBank และ MYBank ของจีนทำสำเร็จจากการมุ่งให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าและผู้ประกอบการรายย่อยระดับ Micro SMEs โดยใช้จุดแข็งจากการอนุมัติสินเชื่อเพียงหลักนาที ขณะที่ทาง Kakao Bank ในเกาหลีใต้ก็ประสบความสำเร็จจากการทำการตลาดกับคนทั่วไปกลุ่มวัยทำงานในผลิตภัณฑ์สินเชื่อรีไฟแนนซ์ภายใต้ข้อเสนอที่ดีกว่าเดิม
กรณีของไทย ลูกเล่นของผลิตภัณฑ์ทั้งเงินฝากและสินเชื่อจะเป็นอย่างไร ธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบันสามารถลงมาแข่งขันได้ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ให้อัตราดอกเบี้ยรายเดือน การแยก Cloud Pocket เพื่อให้มีการออมตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด การเปลี่ยนภาพพื้นหลังของสลิปเงินโอนได้ตามตัวเลือกที่ต้องการ ส่วนด้านสินเชื่อก็ให้บริการในวงเงินขนาดเล็กแก่ลูกค้ารายย่อยด้วยระยะเวลาอนุมัติในหลักชั่วโมง เป็นต้น
ดังนั้นจึงอยู่ที่การตีกรอบเงื่อนไขของการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาของไทยที่ทางการกำหนดว่าจะต้องให้บริการกับกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม (Underserved) หรือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีของเกาหลีใต้ หรือสิงค์โปร์ ที่เน้นการให้ใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาดมากกว่าจะเน้นการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ให้กับกลุ่มประชากร
เนื่องจากการกำหนดทุนขั้นต่ำของการสมัครใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในไทยที่จะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท เมื่อพ้นระยะแรกของการประกอบธุรกิจ ซึ่งเมื่อเทียบกับทุนจดทะเบียนชำระแล้วของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ในปัจจุบันที่อยู่ในช่วงประมาณ 19,000 ถึงกว่า 90,000 ล้านบาท และขนาดกลางและเล็กที่อยู่ในช่วง 5,800 ถึง 25,000 ล้านบาท สะท้อนความต้องการเห็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ นั่นหมายความว่า หากมีความยืดหยุ่นในการตีความธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาก็อาจทำให้เห็นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มลูกค้าปัจจุบันที่ทับซ้อนกันได้ อาทิ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงาน (First Jobbers) ที่มีศักยภาพ รวมถึงตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับเงื่อนไขสินเชื่อใหม่ที่ดีกว่าเดิม
ภายใต้บริบททางการเงินของครัวเรือนไทยที่ส่วนใหญ่มีหนี้สูง ขณะที่คนไทยยังมีการเก็บออมน้อย สะท้อนจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่พบว่า มีคนไทยเพียง 15.7% เท่านั้นที่มีการวางแผนเกษียณและสามารถเก็บออมได้ตามแผนที่วางไว้ คงทำให้ผู้เล่นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ดังนั้นความมั่นคงด้านเงินทุนตั้งต้น ความเชี่ยวชาญด้านการประกอบธุรกิจการเงินการธนาคาร ความสามารถในการประยุกต์ใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการเติมเต็มระบบนิเวศ (Ecosystem) กับพันธมิตรทางธุรกิจเป้าหมาย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงของลูกค้าและตัวธุรกิจเอง การคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตลอดจนการหาโอกาสในการทำกำไรจากการล็อคให้ลูกค้าใช้ชีวิตอยู่ใน Ecosystem ที่สร้างขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 67)
Tags: การเงิน, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สินเชื่อ