นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษ (ทางด่วน) ในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงการปรับปรุงระบบค่าผ่านทาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนนั้น
ล่าสุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และบมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในฐานะผู้รับสัญญาสัมปทานบริหารทางด่วน ในการพิจารณาปรับโครงสร้างลดอัตราค่าผ่านทางฯ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้ทางด่วนให้กับประชาชน ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการใช้กับทางด่วนขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน – พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร (กม.) เนื่องจากมีผู้ใช้ทางเป็นจำนวนมาก
สำหรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ที่มีการปรับลดลงนั้น เริ่มต้นที่ 25 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากในปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 25 – 90 บาท กล่าวคือ จะมีการยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งจากเดิมมีค่าผ่านทาง 25 บาท ทำให้เหลือ 0 บาท ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท เหลือ 50 บาท
ขณะที่ ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท เหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) จ่ายเงินทางขึ้น 25 บาท
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะหารือและได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ในการปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าว จะทำให้รายได้ของผู้รับสัมปทานลดลง ดังนั้น จากการหารือในเบื้องต้น กทพ. มีแนวทางขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 ตุลาคม 2578 พร้อมกับการพิจารณาแบ่งสัดส่วนรายได้
โดย กทพ. จะมีรายได้ลดลง เพื่อนำไปชดเชยให้กับผู้รับสัมปทานในการลดค่าผ่านทาง จากเดิม กทพ. มีสัดส่วน 60% ผู้รับสัมปทาน 40% ขณะเดียวกัน BEM จะต้องรับภาระในการลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การปรับลดค่าผ่านทางในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก
“กระทรวงคมนาคม มีเรื่องใหญ่ที่อยากจะทำให้เห็นผลโดยเร็ว คือ การแก้ไขปัญหาค่าทางด่วนแพง เพราะตอนนี้ มีประชานที่ใช้ทางด่วนช่วงยาว มีระยะทางไกล ต้องจ่ายแพงถึง 100 กว่าบาท ผมเลยให้ กทพ. และ สนข. ไปหารือกับเอกชน เพื่อลดค่าทางด่วน ให้เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาท หรือ 50 บาทตลอดสาย เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้ทางด่วนให้กับประชาชน” นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อ กทพ. หารือร่วมกับ สนข. และ BEM จนได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนับจากนี้ กทพ. จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. พิจารณาเห็นชอบแนวทางการปรับลดค่าผ่านทาง รวมทั้งการขยายสัญญาสัมปทาน, การปรับสัดส่วนรายได้ และ BEM เป็นผู้ลงทุนโครงการ Double Deck ก่อนจะเสนอไปยังคณะกรรมการ มาตรา 43 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 พิจารณาเห็นชอบรายละเอียดการแก้ไขสัญญาฯ
ทั้งนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 43 แล้วจะส่งร่างสัญญา ที่มีการปรับแก้ไขแล้วต่อไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตรวจร่างสัญญา จากนั้นจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญา และเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) เห็นชอบ ก่อนเสนอไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในเดือนสิงหาคม 2567 หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้มีนโยบายให้ส่งเสริมให้มีการใช้งานบัตร Easy Pass เพิ่มมากขึ้น โดยสั่งการให้ กทพ. เพิ่มช่องทางการจำหน่าย และการเติมเงิน Easy Pass ให้สะดวกขึ้น อาทิ การจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ขณะเดียวกัน จะมีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ Easy Pass ให้ได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็วในการเดินทาง โดยการยกไม้กั้นออก และจะมีการเพิ่มช่อง Easy pass มากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 67)
Tags: BEM, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ